ชื่องานวิจัย : การศึกษาผลการเรียนรู้ กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทยที่เน้นการพัฒนาการอ่าน การคิด
วิเคราะห์และเขียนเพื่อสร้างเสริมทักษะการสื่อสารการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
สำหรับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่4
ชื่อผู้ทำวิจัย : นางสาวเพ็ญศรี ศรีนุศร ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่ทำการวิจัย : ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ที่เน้นการพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้บทเรียนและ แผนการจัดการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) ดำเนินการ 3 วงจร มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน คือ 1) การอ่านและสรุปใจความสำคัญ 2) การคิดวิเคราะห์เรื่องราว 3) การเขียนเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่ สำนักงานการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1) เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่บทเรียนและแผนการจัดการเรียนรู้ 2) เครื่องมือใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนเเบบสัมภาษณ์นักเรียน เเละเครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการเรียนรู้คือเเบบประเมินผลงานนักเรียนเเละแบบทดสอบท้ายวงจร สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าร้อยละ
ผลการวิจัยปรากฏผล ดังนี้
1. ผลการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนเเละแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น พบว่าขั้นที่ 1 การอ่านเเละสรุปใจความ ทำให้นักเรียนสามารถอ่านเเละสรุปใจความสำคัญ จับประเด็นสำคัญเรื่องเเละสรุปความสำคัญ จากเรื่องที่อ่านได้ ขั้นที่ 2 การคิดวิเคราะห์เรื่องราว ทำให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์เรื่อง จับประเด็นสำคัญ จำแนกข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งเสนอความคิดเห็นในการเเก้ปัญหาได้ ตามเเนวคิดทฤษฎีหมวก 6 สี ของ ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน และนักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิด คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และคิดตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ขั้นที่ 3 การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ทำให้นักเรียนได้เขียนเสนอแนวคิดใหม่ๆ ตามแนวความคิดของตนเองและสามารถนำเสนอผลงานของตนเองได้ และผลจากการจัดการเรียนรู้ จึงสามารถทำให้นักเรียนมีพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียนเพิ่มขึ้น
2. ผลการเรียนรู้จากการทำแบบทดสอบท้ายวงจร โดยใช้บทเรียนและแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นพบว่า ในวงจรที่ 1 วงจรที่ 2 และวงจรที่ 3 นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยโดยรวม คือ ร้อยละ 77.57ร้อยละ 84.28 และร้อยละ 88.09 สูงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่า นักเรียน มีพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียนเพิ่มขึ้น
กล่าวโดยสรุปว่า ผลจากการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ที่เน้นการพัฒนาการอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียน โดยใช้บทเรียนและแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สามารถทำให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์และเขียนเพิ่มขึ้นได้ สร้างเสริมทักษะการสื่อสารการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และทำให้ได้นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 4 ที่เน้นการอ่าน การคิดวิเคราะห์ และการเขียน ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ