กระบวนการจัดกิจกรรม 6 สหาย คือ เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามแนวคิดทฤษฏีพื้นฐาน 3 ทฤษฎี ประกอบด้วย
1) ทฤษฎีการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย ที่ว่ากระบวนการเรียนรู้ด้านความรู้สึกมี
ความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน โดยเริ่มจาก การรับรู้จากการสังเกต การตอบสนองจากความเชื่อ
การยินยอมและการยอมรับ การรู้หรือการมองเห็นคุณค่าแล้วเกิดความชื่นชอบ มีเจตคติ เห็นค่านิยม
มีการจัดระบบคุณค่าและการสร้างลักษณะนิสัยของตนเอง
2) ทฤษฏีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม ที่ว่าการเรียนรู้เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวบุคคล สิ่งแวดล้อมและ พฤติกรรม มีอิทธิพลต่อกันและกัน ซึ่งการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตหรือการเลียนแบบจากตัวแบบ มีกระบวนการเรียนรู้ คือ การใส่ใจ การเข้ารหัสเก็บไว้ในหน่วยความจำแล้วแสดงออกเป็น พฤติกรรม และ
3) ทฤษฏีการเรียนรู้จากพื้นฐานการทำงานของสมอง ที่ว่า กระบวนการเรียนรู้เป็นการเชื่อมโยงกับการพัฒนาของเซลล์สมองทั้งในด้านการจัดกิจกรรม ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อม และกระบวนการอื่น ๆ การใช้เครื่องมือ ร่วมกับสื่อต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนสนใจ เข้าใจ และเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว ทั้งยังสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ มาใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม เสาะแสวงหาความหมาย รูปแบบ การเชื่อมโยง การรับรู้ข้อมูลใหม่ สามารถเชื่อมโยงระบบคิดจนก่อให้เกิดเป็นความเคยชิน นำไปสู่ การประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัย
มีทั้ง 6 ขั้น ที่มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน เปรียบเสมือนเพื่อน หรือสหาย ทั้ง 6
ที่คอยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้กิจกรรมที่ทำได้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
สหาย 1 จิตสนใจรับรู้ คือ การจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้เกิดแรงจูงใจภายใน เกิดความสนใจเต็มใจที่จะเรียนรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการถ่ายโยงความรู้ หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนกับความรู้ใหม่หรือประสบการณ์ใหม่ โดยการให้ตัวแบบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียน สังเกต วัตถุหรือเหตุการณ์เป็นการเร้าความสนใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จ
สหาย 2 คุณค่าคิดวิเคราะห์ คือ การกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าหรือความสำคัญ ของคุณลักษณะและผลกระทบของการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม และการให้ความกระจ่างหรือสร้างความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่ได้ตั้งประเด็นสนใจไว้ให้มีความหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอาศัยทักษะการเรียนรู้ เจตคติ ค่านิยม หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียน กระตุ้นจิตใจผู้เรียนให้เริ่มยอมรับที่จะปฏิบัติ
สหาย 3 บ่มเพาะประสบการณ์ คือ การให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยนำประเด็นเนื้อหาที่ได้ทำความเข้าใจในขั้นสร้างคุณค่าคิดวิเคราะห์ มาขยายขอบเขตของข้อความรู้ ให้มีความละเอียดชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ผู้เรียนร่วมกันศึกษาค้นคว้า ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในลักษณะการทำงานกลุ่ม และสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานทีละน้อยให้เห็นถึงความรู้ที่ได้ค้นคว้า เพื่อให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ของสิ่งที่กระทำ มีความหมาย มีคุณค่าต่อตนเอง ส่วนรวมหรือสิ่งแวดล้อม
สหาย 4 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ การนำข้อความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการที่ค้นพบ หรือผลงานที่ร่วมกันปฏิบัติ มานำเสนอสู่เวทีการสนทนา อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นการตอบสนองความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มพูนความรู้ที่อยู่ให้มีความรู้มากขึ้น
สหาย 5 สรุปความรู้ คือ การนำผลของความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาร่วมกันจัดระบบความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ หรือข้อค้นพบต่างๆ ที่ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว มาจัดทำเป็นระบบระเรียบ และสามารถแสดงข้อสรุปที่ได้ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เข้าใจได้ โดยทำเป็นแผนผังความคิด ฯลฯ
สหาย 6 ชื่นชมผลงาน คือ การนำผลงานของแต่ละกลุ่มที่ร่วมกันสรุปเป็นองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ครูกระตุ้นความคิดความรู้สึก ของผู้เรียนให้รู้สึกประสบผลสำเร็จ พอใจ และต้องการจะกระทำคุณลักษณะนั้นๆ และให้การเสริมแรง เช่น การชมเชย ให้รางวัล
ผลการใช้กระบวนการกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่า
1. นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีเหตุผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และอยู่อย่างพอเพียง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีพฤติกรรมด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และอยู่อย่างพอเพียง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การประเมินพฤติกรรมนักเรียน จากครูผู้สอน ครูที่ปรึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และบันทึกหลังแผนการจัดกิจกรรม ของนักเรียนในกลุ่มทดลองแสดงให้เห็นว่าการเรียนตามกระบวนการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ช่วยให้นักเรียนมีเหตุผล และพฤติกรรมด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดีขึ้น