บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) รายงานผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ๒) เพื่อรายงานผลการเปรียบเทียบการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ กับปีการศึกษา ๒๕๕๘ และ ๓) เพื่อรายงานผลการศึกษาความพึงพอใจในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ดำเนินโครงการโดยใช้แนวทางการดำเนินงานตามแนวคิด Empowerment Approach และ Theory - Driven Approach ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน คือ ๑) การตรวจสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน ๒) การกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ ๓) การพัฒนา กลยุทธ์แล้วนำกลยุทธ์ลงสู่การปฏิบัติ และ ๔) การประเมินรวบรวมเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงความก้าวหน้าของงานตามเป้าหมาย ปรากฏผลการดำเนินงาน ดังนี้
๑. ผลที่เกิดกับผู้เรียน
๑.๑ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น โดยระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (O-net) ใน ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักประกอบด้วย ภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ๔๙.๘๗ และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ๕๑.๙๓ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๒.๐๖
๑.๒ นักเรียนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๖๐ อยู่ในระดับมากที่สุด
๒. ผลที่เกิดกับครูและบุคลากรทางการศึกษา
ฝ่ายบริหาร ครูและบุคลากรมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวม มีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๖๔ อยู่ในระดับมากที่สุด
๓. ผลที่เกิดกับคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง
คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวม มีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๕๘ อยู่ในระดับมากที่สุด
๔. ผลที่เกิดกับสถานศึกษา
๔.๑ สถานศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-net) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่สูงขึ้น
๔.๒ สถานศึกษาได้รับความไว้วางใจ และความร่วมมืออย่างดีจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองในการที่จะช่วยกันพัฒนาสถานศึกษาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นในทุกๆด้าน
๕. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับ ชาติ (O-net) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยภาพรวมไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสาระ พบว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีค่าพัฒนาที่ลดลง ดังนั้นจึงควรเร่งดำเนินการวางแผนพัฒนายกระดับผลสัมฤทธิ์ของทั้งสองกลุ่มสาระนี้ให้สูงขึ้นเพื่อให้ระดับผลสัมฤทธิ์โดยภาพรวมสูงขึ้นได้อีก