ชื่อวิจัย วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์
จากอินเตอร์เน็ต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย นายวรารักษ์ หนึ่งโชคชัย
กลุ่มสาระ ภาษาไทย
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์จากอินเตอร์เน็ต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 2) เพื่อศึกษาผลของการอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์จากอินเตอร์เน็ต ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ร้อยละ 80 และมีจำนวนนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยดังกล่าวร้อยละ 80 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนพังงูพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 6 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู
แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบบันทึกผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
แบบประเมินผลงาน แบบสัมภาษณ์นักเรียน และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลวัดทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ ได้แก่ แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ และแบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในการพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ และเมื่อสิ้นสุดทั้ง 3 วงจร ได้ทำการทดสอบวัดทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์แล้วนำมาสรุปข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าร้อยละ ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้
สื่อสิ่งพิมพ์จากอินเตอร์เน็ต ผลการปฏิบัติการในวงจรที่ 1 การอ่านคิดวิเคราะห์ข่าว จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวงจรนี้ นักเรียนให้ความสนใจร่วมทำกิจกรรมเป็นอย่างดี นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยท้ายวงจรคิดเป็นร้อยละ 85.70 ในวงจรที่ 2 การอ่านคิดวิเคราะห์บทความ ผู้วิจัยได้พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยการเพิ่มเติมสื่อที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยได้นำบทอ่าน รูปภาพ บัตรคำ เกม และภาพยนตร์มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจมีความกระตือรือร้น และร่วมทำกิจกรรมเป็นอย่างดี จากการประเมินท้ายวงจรพบว่า นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 88.30 ในวงจรที่ 3 การอ่านคิดวิเคราะห์บันเทิงคดี ในวงจรนี้ผู้วิจัยได้เพิ่มสื่อการเรียนรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นลายอักษรแล้วยังได้นำการ์ตูนแอนนิเมชัน ภาพยนตร์ มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งนักเรียนให้ความสนใจเป็นอย่างดี จากการสะท้อนผลการปฏิบัติท้ายวงจรที่ 3 พบว่า นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 89.23 จะเห็นได้ว่านักเรียนมีคะแนนการอ่านคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากนักเรียนมีประสบการณ์การคิดวิเคราะห์ และมีความชำนาญในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะได้รู้จุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุงในผลงานของตนในวงจรที่ผ่าน ๆ มา และสามารถนำมาพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ของตนเองให้ดีขึ้นได้
2. ผลการทดสอบวัดทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์จากอินเตอร์เน็ต
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบทั้ง 3 วงจร พบว่า นักเรียนมีคะแนนการอ่านคิดวิเคราะห์ เฉลี่ยร้อยละ 82.70 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 80 ขึ้นไปจำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 90.00 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 30 คน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 2 คือ ผลการพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80 / 80 นอกจากนั้นนักเรียนมีพฤติกรรมแสดงออกถึงความสนใจในการทำกิจกรรมสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอย่างสนุกสนาน