บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง ใช้วิธีการวิจัยลักษณะการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixd Methods Research) ด้วยการศึกษาวิจัยเชิงประเมิน (Quantitative Methods) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย
4 ข้อ คือ เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 และเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ของเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 30 คน เป็นการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากผู้วิจัยเป็นครูผู้สอนเด็กชั้นนี้ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 10 แผน และแบบสังเกตพฤติกรรมวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 1 ฉบับ
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย 4.76 อยู่ในระดับมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
บทนำ
เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงควรได้รับการพัฒนาครบถ้วน ทั้งด้านการอบรมเลี้ยงดู การเอาใจใส่ การให้ความอบอุ่น โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เริ่มต้นของชีวิตมนุษย์นับว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เพราะพัฒนาการทุกด้านเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องกัน การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กโดยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง บนพื้นฐาน การอบรมเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัวและสภาพแวดล้อม มุ่งเน้นพัฒนาการของเด็กแต่ละคนตามศักยภาพเพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กมีชีวิตที่สมบูรณ์ในทุกๆด้านตามแบบอย่างสังคมไทย การจัด การศึกษาปฐมวัยเน้นการพัฒนาความพร้อมของเด็ก 4 5 ปี ทุกด้าน โดยมุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้ผ่าน การเล่นและปฏิบัติจริง เน้นให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมสิทธิ และโอกาสทางการเรียนโดยการอบรมเลี้ยงดู และพัฒนาเด็กด้วยความรักทั้งทางบ้านและโรงเรียนจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กเป็นคนดีและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข เด็กทุกคนจะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษาโดยส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของเด็ก ชุมชน และสังคม ด้วยการอบรมเลี้ยงดูอย่างมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่าง ครู ผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการทุก ๆ ด้านตามลำดับขั้นของการพัฒนาอย่างสมดุลและเต็มตามศักยภาพของเด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสมกับวัย
สังคมในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วการจัดการศึกษาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันต่อ การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ การเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้มีศักยภาพ ต้องมีการวิเคราะห์ความสามารถที่จำเป็นกับการมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างเข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับสภาพแวดล้อมและปัญหาที่หลากหลาย ดังแนวคิดของเทรฟฟิงเกอร์ (Treffinger) ที่กล่าวว่า การพัฒนาคนให้มีความสามารถอยู่ในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานสำหรับอนาคต ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะทางสังคม ทักษะการคิดสร้างสรรค์ และทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมาสโลว์ที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการได้รับการยอมรับและการยกย่องในสังคม ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความพร้อมของผู้เรียนให้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จต้องพัฒนาความสามารถที่สำคัญ คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทาง ด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย ซึ่งควรได้รับการพัฒนาด้วยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่เด็กวัยนี้ ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก เพราะเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สมองมีการเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด สิ่งแวดล้อมและการได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เหมาะสมเป็นรากฐานสำคัญต่อระดับสติปัญญา สมรรถนะและความสามารถของเด็กอย่างถาวร เพื่อให้เด็กปฐมวัยนำความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มาพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม เพื่อการประสบความสำเร็จของชีวิต ถึงแม้ว่าการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต้องอาศัยทักษะและวิธีการที่ซับซ้อน แต่ด้วยเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีธรรมชาติของการอยากรู้อยากเห็น การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เหมาะสม การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ได้เรียนรู้ และฝึกฝน ก็สามารถส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กปฐมวัยได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบรูเนอร์ (Bruner) ที่กล่าวว่า เด็กทุกระดับชั้นของการพัฒนาสามารถเรียนรู้เนื้อหาวิชาใดก็ได้ ถ้าจักการสอนให้เหมาะสมกับความสามารถด้วยการสร้างแรงจูงใจ การจัดเนื้อหาที่เหมาะสม เรียงลำดับความยากง่ายให้เหมาะสม และให้การเสริมแรง และสอดคล้องกับหลักการจัด การเรียนรู้ของดิวอี้ (Dewey) ที่กล่าวว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนลงมือกระทำ (Learning by Doing) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์จึงสามารถพัฒนาให้กับผู้เรียนได้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยเป็นต้นไป
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. แนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ทั้งด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านจิตใจ อารมณ์ และด้านสังคม ทำให้เกิดความสามารถในการเรียนรู้และการปรับตัวต่อ
สิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม เด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี นับได้ว่าเป็นช่วงที่มีพัฒนาการเจริญเติบโตติดต่อกันไปอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ-อารมณ์ และสังคม เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของพัฒนาการของเด็กปฐมวัยที่ชัดเจน และสามารถนำไปส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยควรได้รับการดูแลและสนับสนุน ดังที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปีพุทธศักราช 2535 สหประชาชาติได้ประกาศในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยระบุว่ารัฐภาคีจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการพัฒนาเด็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นฐาน การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ควรทำการศึกษาและทำความเข้าใจถึงแนวทางการส่งเสริม
การเรียนรู้ หมายถึง การแสดงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ซึ่งเกิดจากการได้รับประสบการณ์จนเกิดเป็นพฤติกรรมที่ถาวร เด็กประถมวัยมีความพร้อมในการเรียนรู้ที่เกิดจากการพัฒนาการและธรรมชาติในตัวของเด็ก จากการเข้าไปมีประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อม ก็ได้ค้นคว้า สำรวจ และปฏิบัติ ดังนั้น การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเด็กได้รับการส่งเสริมจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จนถึงขั้นเป็นพฤติกรรมที่ถาวร จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบของการเรียนรู้ เพื่อทำให้การเรียนรู้บรรลุวัตถุประสงค์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการเรียนรู้ว่าประกอบด้วยความพร้อม บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ระดับสติปัญญาและความสามารถของแต่ละบุคคล การจำการลืม แรงจูงใจในการเรียนรู้ ความเหนื่อยล้ากับการเรียนรู้ และ ความตั้งใจและความสนใจที่จะเรียนรู้
องค์ประกอบการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่มาจากผู้เรียนที่เรียกว่า ปัจจัยภายในซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของความพร้อมทางร่างกาย และปัจจัยภานอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมดังนั้น การพิจารณาขององค์ประกอบของการเรียนรู้อย่างรอบด้าน
ทั้งจากความพร้อมในการเรียนรู้จากเด็ก และสภาพแวดล้อมด้วยการจัดเตรียมให้เหมาะสมสามารถสร้างแรงจูงใจให้เด็ก ก็จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก และให้อิสระในการเรียนรู้ได้ เด็กได้แสดงออกตามศักยภาพในการค้นคว้าและแสวงหาความรู้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เด็กมีการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างดี
2. แนวคิดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสติปัญญา มีหลายทฤษฎี เช่น
1. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ ที่กล่าวถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยตามหลักการว่า พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามระดับวุฒิภาวะและเป็นกระบวนการที่เป็นลำดับขั้นแน่นอน พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามการสะสมการเรียนรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์กับสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวให้กับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการของเด็ก เกิดจากการผสมผสานระหว่างทฤษฎีวุฒิภาวะ และทฤษฎีการเรียนรู้
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์มีรากฐานแนวคิดของเพียเจท์นำมาประยุกต์ใช้ บรูเนอร์ให้ความสำคัญในการค้นพบสิ่งจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการค้นพบด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์รอบตัวเอง และใช้ประสบการณ์ที่เก็บรวบรวมไว้เป็นเครื่องมือ และความรู้เป็นกระบวนการมิใช่ผล
3. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของไวก๊อตสกี้ ซึ่งให้ความสำคัญของวัฒนธรรม
การถ่ายทอดทางสังคม การเรียนรู้ที่มีต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญา ไวก๊อตสกี้กล่าวว่า การเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์จะต้องเข้าใจวัฒนธรรมและรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูของเด็กตั้งแต่แรกเกิด
ไวก๊อตสกี้อธิบายพัฒนาการของมนุษย์ว่าเป็นอิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูที่ถ่ายทอดวัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อ ให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด มนุษย์จะพัฒนาการขึ้นมาจากวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมา เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆตามกำหนดของวัฒนธรรมที่เขาเจริญเติบโตขึ้นมา และส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กแต่ละวัยที่เพิ่มขึ้นถึงขั้นสูงสุดตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
3. แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์เด็กปฐมวัย
เด็กปฐมวัยอายุ 3-5 ปี ต้องได้รับการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา การจัดประสบการณ์ที่สอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง การจัดประสบการณ์ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กตามศักยภาพของแต่ละคนด้วยความร่วมมือ ทั้งจากบ้าน โรงเรียน และชุมชน การจัดประสบการณ์เด็กปฐมวัยมีความแตกต่างตามบริบทของท้องถิ่น และวัฒนธรรม การนำกิจกรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย มาให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างหลากหลาย โยให้เด็กมีอิสระในการเลือกและลงมือปฏิบัติ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การจัดประสบการณ์เด็กปฐมวัยมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึง พัฒนาการ ความสนใจ และสภาพแวดล้อมของเด็กเป็นสำคัญ เด็กปฐมวัยเป็นจุดสำคัญของการกำหนดหลักการจัดประสบการณ์ โดยพิจารณาจากวัยและพัฒนาการ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ หากมีวิธีการที่เหมาะสมจากการยึด
เด็กเป็นสำคัญ ทำให้ผู้สอนสามารถกำหนดหลักในการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการเรียนรู้ของเด็กผ่านประสบการณ์ปฏิบัติและกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เด็กได้พัฒนาตนได้ตามคุณลักษณะตามวัย เกิดการเรียนรู้อย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดประสบการณ์ ผู้สอนจำเป็นต้องยึดเด็กและจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับอายุ วุฒิภาวะ พัฒนาให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพ มีการจัดกิจกรรมในลักษณะบูรณาการผ่านการปฏิบัติด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้เด็ก
ได้เรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กนำประสบการณ์มาใช้ประโยชน์
ในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข
4. แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นับเป็นลักษณะหนึ่งของการสร้างสรรค์ที่เกิดจากความสามารถในการแก้ปัญหา องค์ประกอบของการแก้ปัญหาเป็นส่วนสำคัญที่เด็กต้องได้รับ
การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพัฒนาการและความสามารถตามวัย การฝึกฝนให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น มีความท้าทาย กระตุ้นให้เด็กต้องการค้นคว้า เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ ตลอดจนครูจำเป็นต้องมีบทบาทที่จะอำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้เด็กได้คิดแก้ปัญหา
ในสถานการณ์ที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่ผลของการแก้ปัญหาอ่างสร้างสรรค์ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ แตกต่างจากเดิม หลากหลาย และมีคุณค่าเกิดประโยชน์
รูปแบบการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เป็นกระบวนการของการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะของความสร้างสรรค์ จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย แนวคิดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบ การจัดประสบการณ์เด็กปฐมวัย และแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นำมาสังเคราะห์เป็นกระบวนการจัดประสบการณ์ของรูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย (The PISAA) 5 ขั้น เพื่อใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 การกำหนดปัญหา (Problem Finding)
ขั้นที่ 2 การค้นหาความคิด (Idea Finding)
ขั้นที่ 3 การเลือกกลวิธีการแก้ปัญหา (Strategy Finding)
ขั้นที่ 4 การลงมือปฏิบัติ (Action Finding)
ขั้นที่ 5 การประเมินผล (Assessment Finding)
วิธีดำเนินการวิจัย
วิธีดำเนินการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research : R) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis : A)
นำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดและตรวจสอบนิยาม ความสามารถ และพฤติกรรมบ่งชี้ และแนวทางการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ในแต่ละด้าน ผู้วิจัยได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งข้อมูลเอกสารและบุคคล ประกอบด้วย
1.1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งข้อมูลเอกสาร ประกอบด้วย เอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 แนวคิดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
1.2 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งข้อมูลบุคคล ประกอบด้วย การสัมภาษณ์บุคคล
โดยใช้เครื่องมือการสัมภาษณ์ 2 ลักษณะ คือ แบบไม่เป็นทางการ และแบบเจาะลึก
2. วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน จากแหล่งข้อมูลเอกสารและข้อมูลบุคคล แล้วกำหนดเป็นนิยาม ความสามารถ พฤติกรรมบ่งชี้ และแนวทางการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
3. ตรวจสอบเพื่อยืนยันนิยาม ความสามารถ พฤติกรรมบ่งชี้ในแต่ละความสามารถ และแนวทางการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญ
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development : D) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (Design and Develop : D1 , D2) ดำเนินการดังนี้
1. พัฒนาโครงร่างรูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จากแนวคิดที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในขั้นตอนที่ 1
2. ตรวจสอบเพื่อยืนยันความเหมาะสมของโครงร่างรูปแบบการจัดประสบการณ์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญพิจารณา
ความเหมาะสม และนำผลการพิจารณามาปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดประสบการณ์
3. สร้างและตรวจสอบความเหมาะสมองเครื่องมือประกอบการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
4. ศึกษานำร่อง (pilot Study)เพื่อประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยก่อนนำไปทดลองใช้จริง ผู้วิจัยได้ดำเนินการ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research : R) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (Implement : I) ดำเนินการ ดังนี้
เป็นพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญญา กับเด็กในกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 : 1 เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 3 คน และกลุ่ม 1 : 10 เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 9 คน โดยใช้แผนการจัดประสบการณ์วิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 และแบบสังเกตพฤติกรรมวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
ขั้นตนที่ 4 การพัฒนา (Development : D) เพื่อประเมินประสิทธิภาพผลของรูปแบบ
การจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (Evaluation : E)
นำข้อมูลมาประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์มาตรวจสอบปรับปรุงแก้ไข และตรวจสอบขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้รูปแบบการจัดประสบการณ์ ฉบับสมบูรณ์ ผู้วิจัยได้ดำเนิน
การประเมิน ดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลจากการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์
การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ประกอบด้วยผลการประเมินดังนี้
1.1 ผลการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์
1.2 ผลการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์
4 ระยะ คือ ก่อนการจัดประสบการณ์ หลังการจัดประสบการณ์ครั้งที่ 1 หลังการจัดประสบการณ์ครั้งที่ 2 และระยะติดตามผลการจัดประสบการณ์
2. ตรวจสอบ ปรับปรุง และแก้ไข รูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
3. ตรวจสอบรูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ขั้นสุดท้าย เพื่อให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเพิ่มเติม นำมาปรับปรุงแก้ไขเป็นรูปแบบ
การจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ฉบับสมบูรณ์
สรุปผล และข้อเสนอแนะ
1. สรุปผล
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก
ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญ มีค่าเฉลี่ย 4.76 อยู่ในระดับมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อแสนอแนะสำหรับการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่สามารถพัฒนาให้กับเด็กได้ในทุกวัยทุกระดับชั้น ดังนั้น โรงเรียนและครูผู้สอนควรกำหนดแนวทางในการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กทุกคน
1.2 ในการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ครูผู้สอนควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบและแผนการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ให้ครบทุกขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อจะได้สามารถจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่เหมาะสมกับเด็กได้ตรงตามจุดประสงค์ที่กำหนด
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยต่อไป
2.1 ควรมีการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอื่น ๆ หรือเด็กระดับชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา
2.2 ควรมีการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 หรือชั้นอื่นๆ โดยให้เด็กและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้วย
2.3 ควรมีการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 หรือชั้นอื่นๆ ในกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางสติปัญญา