ชื่อเรื่อง : การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้(STAD)
ชื่อผู้ศึกษา : นายมิตร พลตรีวงศ์
โรงเรียน : ขอนแก่นวิทยาลัย สพม.เขต 25
ปีการศึกษา : 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีจำนวนนักเรียนมากกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ (STAD) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนขอนแก่นวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 14 คน ใช้เนื้อหา รายวิชา ค21102 คณิตศาสตร์พื้นฐาน หน่วยการเรียนที่ 4 เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ เครื่องมือที่ใช้ทดลองปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ (STAD) จำนวน 15 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบทดสอบหลังวงจร เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ (STAD) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติพื้นฐาน คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละและอธิบายเป็นความเรียง
ผลการศึกษา พบว่า
1) นักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 75.00 และมีจำนวนนักเรียนร้อยละ 85.71 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความพึงพอใจต่อการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้(STAD) โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาความพึงพอใจเป็นรายข้อ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน นักเรียนมีโอกาสร่วมมือกันในการปฏิบัติงานกลุ่มและนักเรียนเห็นความสำคัญและเห็นประโยชน์ของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์