ชื่อเรื่อง การประเมินหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง
ระยอง โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model
ผู้วิจัย ปาลีรัฐ มานะเลิศ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความสอดคล้องด้านบริบท (Context Evaluation: C) ประเมินความเหมาะสมและความพอเพียงด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I) ประเมินการดำเนินการด้านกระบวนการ (Process Evaluation: p) และประเมินผลด้านผลผลิต (Product Evaluation: p) ตามหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) โรงเรียนมัธยมตากสิน จังหวัดระยอง ประชากรที่ใช้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน คณะครูจำนวน 52 คน นักเรียนจำนวน 147 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 147 คน
รวมประชากรทั้งสิ้น 365 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถาม และแบบบันทึกข้อมูลคุณภาพผู้เรียนและการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าความถี่(Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการวิจัยพบว่า
การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation: C) พบว่า หลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) กับความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ความถนัด ความสนใจและความสามารถของผู้เรียน อยู่ในระดับมาก ส่วนความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในด้านจุดมุ่งหมาย โครงสร้างหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด รายวิชาแต่ละชั้นปี และเนื้อหาหลักสูตรอยู่ในระดับมากที่สุด และความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) กับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2556 ในด้านจุดมุ่งหมาย โครงสร้างหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด รายวิชาแต่ละชั้นปี และเนื้อหาหลักสูตร อยู่ในระดับมากที่สุด
การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I) พบว่า การประเมินระดับความเหมาะสมและความพอเพียงของทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินการตามหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อเรียงลำดับจากมาไปหาน้อย ดังนี้ 1) วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้จัดการเรียนรู้ 2) อาคารสถานที่ 3) บุคลากร 4) งบประมาณ
การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation: p) พบว่า การดำเนินการตามหลักเกณฑ์การใช้หลักสูตร ในภาพรวมมีความเหมาะสมและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ในระดับมาก ในการดำเนินการตามหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) ดังนี้ การเรียนการสอน การจัดการศึกษาและเวลาเรียน หน่วยกิต โครงสร้าง การฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพ โครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพ การศึกษาระบบทวิภาคี การเข้าเรียน การประเมินผลการเรียน กิจกรรมเสริมหลักสูตร การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร การพัฒนารายวิชาในหลักสูตร การปรับปรุงแก้ไข พัฒนารายวิชา กลุ่มวิชาและการอนุมัติหลักสูตร การประกันคุณภาพหลักสูตร
การประเมินผลด้านผลผลิต (Product Evaluation: p) พบว่า การประเมินผลสำเร็จของการใช้หลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) ที่มีต่อคุณภาพผู้เรียน ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
อยู่ในเกณฑ์การตัดสินระดับ 3 ขึ้นไป ถือว่าผ่านเกณฑ์ตามที่หลักสูตรกำหนด ผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและ ผลต่อพฤติกรรมของผู้เรียน ได้แก่ การศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 99 ที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผู้เรียนมีคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ตามหลักสูตร อยู่ในระดีบดีเยี่ยมและดีรวมกัน ส่วนสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนอยู่ในระดีบดีเยี่ยมและดีรวมกัน ส่วนการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อผู้เรียนที่เรียนหลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับได้ดังนี้ 1) ผลต่อพฤติกรรมของผู้เรียน ได้แก่ การศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา การประกอบอาชีพหลังจบหลักสูตร ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) ผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET)
สรุปได้ว่า หลักสูตรทวิศึกษา (ม.6 ควบคู่ ปวช.) โรงเรียนมัธยมตากสิน จังหวัดระยอง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้