ชื่องานวิจัย ผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ
เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๕ (บ้านตลาดเก่า)
ชื่อผู้วิจัย นางศิวพร ยืนชนม์
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล ๕ (บ้านตลาดเก่า)
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน โดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ของครูก่อนและหลังการอบรมเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน 3) เพื่อเปรียบเทียบการพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียนของครูก่อนและหลังการพัฒนาเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูต่อรูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 5) เพื่อศึกษาคุณภาพผู้เรียนหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูที่ปฏิบัติหน้าที่สอนปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล ๕ (บ้านตลาดเก่า) จำนวน 63 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) คู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) แบบทดสอบภาคความรู้ก่อนและหลังการอบรมครูเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อระดับการพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียน 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) / การทดสอบค่าที (t - test dependent)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน โดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ โดยรวมคุณภาพการสอนของครูอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 66.76 รองลงมาคุณภาพการสอนของครูอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 33.33
2. ความรู้ด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูก่อนและหลังการอบรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. การพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียนของครูก่อนและหลังการพัฒนาในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ระดับการพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียนของครูก่อนและหลังการพัฒนาทั้ง 5 ด้านนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากมีค่าเฉลี่ย ( = 4.01 และ S.D. = .34) เมื่อพิจารณาเป็นรายขั้น พบว่า ขั้นการสร้างแรงจูงใจ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = 4.32 และ S.D. = .31) รองลงมา ขั้นการอบรมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ( = 4.01 และ S.D. = .26) และขั้นการสนับสนุนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ( = 3.74 และ S.D. = .54)
5. คุณภาพผู้เรียนหลังการใช้รูปแบบการนิเทศภายในโดยใช้กระบวนการ MEATS สู่ครูมืออาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยรวมผู้เรียนมีระดับผลการเรียน 3 - 4 คิดเป็นร้อยละ 66.05