การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) จัดทำหนังสือส่งเสริมการอ่านบูรณาการท้องถิ่น
ชุดของดีที่คำตากล้าให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาอัตราพัฒนาการในการอ่านและการเขียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านและการเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนกับวิธีการสอนแบบปกติ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน
การวิจัยใช้แบบแผนการวิจัยเชิงทดลองแบบที่มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง และมีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านหนองพอกน้อย อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3 จำนวน 2 ห้องเรียน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ หนังสือส่งเสริมการอ่านบูรณาการท้องถิ่น ชุดของดีที่คำตากล้า จำนวน 8 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน จำนวน 25 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ในการอ่านและการเขียนแบบปรนัยและแบบอัตนัย จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งเป็นแบบทดสอบคู่ขนาน แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ แบบอัตนัย 3 ข้อ ฉบับที่ 1 มีค่าความยากรายข้อระหว่าง 0.46 0.61 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง 0.36 0.68 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.87 ฉบับที่ 2 มีค่าความยากรายข้อระหว่าง 0.48 0.59 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง 0.36 0.68 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.87 แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน แบบมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .271 - .797 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .836 และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน แบบมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .810 - .902 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .986
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
ผลการวิจัย พบว่า
1. หนังสือส่งเสริมการอ่าน มีประสิทธิภาพ (E1) : (E2) เท่ากับ 86.42/83.57 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ E1 : E2 เท่ากับ 80/80
2. อัตราพัฒนาการทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ใช้การสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนมีค่าเท่ากับ 5.62 หรือร้อยละ 28.10 ของคะแนนเต็ม
3. อัตราพัฒนาการทักษะการเขียนภาษาไทยของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ใช้การสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนมีค่าเท่ากับ8.26 หรือร้อยละ 41.31 ของคะแนนเต็ม
4. ความสามารถการอ่านของนักเรียนที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนและวิธีการสอนแบบปกติ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนสูงกว่าวิธีการสอนแบบปกติ
5. ความสามารถการเขียนของนักเรียนที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนและวิธีการสอนแบบปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยความสามารถด้านการเขียนของนักเรียนที่สอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอนสูงกว่าวิธีการสอนแบบปกติ
6. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อการสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก
7. ความพึงพอใจของผู้ปกครองชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต่อการสอนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านประกอบการจัดการเรียนรู้แบบให้บ้านช่วยสอน โดยรวมอยู่ในระดับมาก