ชื่อเรื่อง รายงานผลการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การสร้างสรรค์ศิลป์สวยด้วยการปะติด
จากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้
ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ผู้ศึกษา นายโชติพงษ์ ด่านเก่า
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านคำบง ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4
ปีที่ศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ เรื่อง การสร้างสรรค์ศิลป์สวยด้วยการปะติดจากวัสดุธรรมชาติ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทัศนศิลป์ ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 18 คน ของโรงเรียนบ้านคำบง อำเภอน้ำพอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ จำนวน 6 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.78 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ใน
การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและดัชนีประสิทธิผลผลการศึกษา ปรากฏดังนี้
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพ 84.55/82.96 มีค่าเฉลี่ยหลังเรียน ( X-bar = 24.88) สูงกว่าก่อนเรียน ( X-bar = 14.16)
2. ดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.7079 หมายความว่า หลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.79
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยโดยรวมเท่ากับ 4.29 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.32
4.ผลการวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ 4.29 ซึ่งสรุปได้ว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป แบบฝึกทักษะทางทัศนศิลป์ ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้มีประสิทธิภาพเหมาะสม และสามารถนำมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ที่ผู้เรียน เรียนรู้ตามความสามารถของตนเองตามลำดับขั้น สมควรนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเนื้อหากลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์ได้