ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทยเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระการงานและดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาชาติได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง ทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี ชีวทัศน์ โลกทัศน์ และสุนทรียภาพ โดยบันทึกไว้เป็นวรรณคดีและวรรณกรรมอันล้ำค่า ภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป (กระทรวงศึกษาธิการ,2551: หน้า 1)
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดวิชาภาษาไทยเป็นกลุ่มสาระหลักในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนเมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล และคิดอย่างมีระบบ มีนิสัยรักการอ่าน การเขียน ฟัง พูด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล และคิดอย่างมีระบบ มีนิสัยรักการอ่าน การเขียน การแสวงหาความรู้และการใช้ภาษาตระหนักในวัฒนธรรมการใช้ภาษาและความเป็นไทยภูมิใจและชื่นชมในวรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งเป็นเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสามารถนำทักษะทางภาษามาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามสถานการณ์ และบุคคล (กระทรวงศึกษาธิการ. 2545 : 2)
การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยปรับและขยายประสบการณ์ของมนุษย์ ทั้งยังช่วยให้สามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างความเพลิดเพลินจากหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ได้มากและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าความสำเร็จในการเรียนของเด็กส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการอ่าน คืออ่านช้า ขาดความเข้าใจในการอ่าน และไม่สามารถจดจำเรื่องที่อ่านได้ ย่อมทำให้การเรียนวิชาต่าง ๆ ไม่ได้ผลไปด้วย ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายวิตกกังวลหรือเกิดความท้อแท้ไม่อยากเรียนต่อไป การอ่าน จึงเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น การอ่าน จะช่วยทำให้นักเรียนค้นหาความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตนอยากรู้ ขยายความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ฉะนั้น การอ่านจึงเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จอีกหลายด้าน
หนังสือส่งเสริมการอ่านนับได้ว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนทางเลือกหนึ่งที่ใช้พัฒนาการอ่านเชิงวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี เพราะหนังสือส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสอนภาษาและเป็นหนังสือที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของเด็ก มีรูปภาพสวยงามที่เร้าความสนใจของนักเรียน (จินตนา ใบกาซูยี,2537)
การสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่ดี ต้องคำนึงถึงหลักการและทฤษฏีที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ โดยทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญและควรคำนึงถึงได้แก่ ทิศนา แขมมณี(2550 :64-68) ได้สรุปทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory) ของเพียเจต์ (Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร ทฤษฎีของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น เพียเจต์สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม และ บรูนเนอร์ (Bruner) เชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การค้นพบการแก้ปัญหา บรูนเนอร์ เรียกว่า เป็นวิธีการเรียนรู้โดยการค้นพบ (Discovery Approach) หรือนักการศึกษาบางท่านนิยมเรียกว่าการเรียนรู้ด้วยการสอบสืบ (Inquiry learning) แต่นักการศึกษาบางท่านได้ให้ความแตกต่างของการเรียนรู้โดยการค้นพบและการเรียนรู้แบบการสอบสืบแตกต่างกันคือ การเรียนรู้โดยการค้นพบครูเป็นผู้จัดสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะให้นักเรียนเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ของบทเรียนพร้อมด้วยคำถาม โดยตั้งความคาดหวังว่านักเรียนจะเป็นผู้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง ส่วนการเรียนรู้ด้วยการสอบสืบมีวัตถุประสงค์ที่จะฝึกนักเรียนให้เป็นผู้ที่สามารถชี้ว่าปัญหาคืออะไร จากข้อมูลที่มีอยู่และหาวิธีว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไรโดยใช้ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่
การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตันหยง ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นักเรียนมีปัญหาทางด้านการเขียนสะกดคำไม่ถูกต้องและอ่านไม่เป็น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำมีผลต่อการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นอีกด้วย
จากเหตุผลดังกล่าว ในฐานะครูผู้สอนภาษาไทยจึงมองเห็นความสำคัญและมีความต้องการอย่างมากในการสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่าน อันเป็นเครื่องมือที่จะช่วยการเรียนรู้ตัวเองได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยมีความสนใจสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่านชุด มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ทั้งยังมีความรู้ที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้และเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และเป็นข้อมูลในการพัฒนาหรือการสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกดของนักเรียนชั้นประถม
ศึกษาปีที่ 2 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน
ชุดมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลาก่อนเรียนและหลังเรียนปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา ตำบลบาโร๊ะจังหวัดยะลา
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
สมมติฐานการทดลอง
1. หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิ
ภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการอ่านของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปี
ที่ 2 ที่เรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการ
เรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับ มากที่สุด
ขอบเขตของการทดลอง
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตันหยง
อำเภอยะหา จังหวัดยะลา จำนวน 54 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ห้อง1 โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 26 คนได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
หนังสือส่งเสริมการอ่าน หนังสือส่งเสริมการอ่านที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นการนำคำใหม่จากหนังสือเรียนภาษาไทยชุดพื้นฐานทางภาษา หนังสือวรรณคดีลำนำ หนังสือภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มาจำแนกเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน จำนวน 8 เล่ม ประกอบด้วย
เล่มที่ 1 แม่นกกับลูกนกทั้งหก
เล่มที่ 2ฟารุด – ฟิตเดาส์
เล่มที่ 3 กบกับตะขาบ
เล่มที่ 4 โรงเรียนของฉัน
เล่มที่ 5 แม่กุญแจตามหาลูก
เล่มที่ 6 กินขนมอะไรดี
เล่มที่ 7 ตามีกับยายมา
เล่มที่ 8 เที่ยวสวนสัตว์
3. ขอบเขตด้านตัวแปร
ตัวแปรที่ศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่
2.1 ตัวแปรต้น ได้แก่ หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 8 เล่ม ได้แก่
เล่มที่ 1 แม่นกกับลูกนกทั้งหก
เล่มที่ 2ฟารุด – ฟิตเดาส์
เล่มที่ 3 กบกับตะขาบ
เล่มที่ 4 โรงเรียนของฉัน
เล่มที่ 5 แม่กุญแจตามหาลูก
เล่มที่ 6 กินขนมอะไรดี
เล่มที่ 7 ตามีกับยายมา
เล่มที่ 8 เที่ยวสวนสัตว์
2.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
2.2.1 ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
2.2.2ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
4. ขอบเขตด้านเวลา
ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ใช้เวลาในการทดลอง 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง รวม 18 ชั่วโมง และเพิ่มเวลาในการทำแบบทดสอบก่อนเรียนและแบบทดสอบหลังเรียนอีก 2 ชั่วโมง รวมเวลาทั้งหมด 20 ชั่วโมง
กรอบแนวคิดการวิจัย
นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้ศัพท์บางคำในความหมายของขอบเขตต่อไปนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ผลของคะแนนที่นักเรียนทำได้ จากการทำแบบทดสอบวัดผล
สัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่าน เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 30 ข้อ ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นโดยผ่านการตรวจหาประสิทธิภาพแล้ว
2. แบบทดสอบ หมายถึง
2.1 แบบทดสอบก่อนและหลังเรียน เป็นปรนัยแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ
2.2 แบบทดสอบย่อยใช้ทดสอบก่อนและหลังการเรียนหนังสือส่งเสริมการอ่าน เพื่อพัฒนาการอ่านจับใจความ ชุดมาตราตัวสะกด ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 รายเล่ม 8 เล่ม เป็นปรนัยแบบเลือกตอบ 3ตัวเลือก เรื่องละ 10 ข้อ
หนังสือส่งเสริมการอ่าน หมายถึง หนังสือที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน พัฒนาทักษะการอ่านให้นักเรียน ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 8 เล่ม ได้แก่
เล่มที่ 1 แม่นกกับลูกนกทั้งหก
เล่มที่ 2ฟารุด – ฟิตเดาส์
เล่มที่ 3 กบกับตะขาบ
เล่มที่ 4 โรงเรียนของฉัน
เล่มที่ 5 แม่กุญแจตามหาลูก
เล่มที่ 6 กินขนมอะไรดี
เล่มที่ 7 ตามีกับยายมา
เล่มที่ 8 เที่ยวสวนสัตว์
3. ประสิทธิภาพของหนังสือหมายถึง คุณภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการอ่านจับ
ใจความ ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยพิจารณาจากคะแนนที่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างทำแบบฝึกหัดท้ายเล่ม หลังการอ่าน และทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่าน ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
80 ตัวแรก หมายถึง คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ได้จากการทำแบบฝึกท้ายเล่มหลังการอ่านหนังสือส่งเสริมการอ่าน คิดเป็นร้อยละไม่ต่ำกว่า 80 ของคะแนนทั้งหมด
80 ตัวหลัง หมายถึง คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ได้จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในการอ่าน คิดเป็นร้อยละไม่ต่ำกว่า 80 ของคะแนนทั้งหมด
4. การอ่าน หมายถึง การอ่านเนื้อหาในหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด
5. มาตราตัวสะกด หมายถึงเป็นพยัญชนะที่ใช้บังคับเสียงท้ายคำ หรือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่
ท้ายสระ และมีเสียงประสมเข้ากับสระ มาตราตัวสะกดมีอยู่ 8 แม่ ได้แก่ มาตราแม่กง มาตราแม่กน มาตราแม่กม มาตราแม่เกย มาตราแม่เกอว มาตราแม่กก มาตราแม่กด มาตราแม่กบ
6. ความพึงพอใจของนักเรียน หมายถึง การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
หลังการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นทั้ง 8 เล่ม และนำไปหาคุณภาพแล้ว
7. นักเรียน หมายถึง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัด
ยะลา
8. โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนบ้านตันหยง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษายะลา เขต 2
9. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง
9.1 คะแนนที่นักเรียนได้จากากรทำแบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังเรียน จากหนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการอ่านจับใจความ ชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 30 ข้อ
9.2 คะแนนทดสอบความรู้จากหนังสือส่งเสริมการอ่านรายเล่ม เล่มละ 10 ข้อ จำนวน 8 เล่ม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้หนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 จำนวน 8 เล่ม
2. ได้แบบฝึกเพื่อพัฒนาการอ่านจากหนังสือส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
3. นักเรียนนำทักษะที่รับการฝึกฝนไปใช้ประโยชน์ในการเรียนวิชาภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้น
5. ใช้เป็นแนวทางให้แก่คณะครูในการจัดทำหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
และกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ทั้งในโรงเรียน และโรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งผู้ศึกษาดูงาน