เรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานกิจการนักเรียนตามแนวคิดการบริหาร
แบบร่วมมือร่วมใจ เพื่อเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ผู้วิจัย ประมวล คิดควร
หน่วยงาน โรงเรียนโนนกอกวิทยา อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบกาบริหารงานกิจการนักเรียนเพื่อเสริมสร้างวินัยในตนเองของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาบริบท เอกสาร และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนโนนกอกวิทยา ระยะที่ 2 เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รองผู้อำนวยการ ครูผู้สอน ครูฝ่ายปกครอง ครูที่ปรึกษา ครูแนะแนว เจ้าหน้าที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(กรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน) ผู้ปกครองและตัวแทนนักเรียน ระยะที่ 3 เป็นการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม(Participatory Action Research : PAR) และการวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักศึกษาโดยการสังเกตของครูที่ปรึกษาและผู้ปกครอง และระยะที่ 4 เป็นการสรุปผลการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ รองผู้อำนวยการจำนวน 3 ฝ่าย หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้จำนวน 8 คน หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หัวหน้างานแนะแนว หัวหน้างานครูที่ปรึกษา หัวหน้าฝ่ายปกครอง ตัวแทนผู้ปกครอง จำนวน 11 คน และตัวแทนนักเรียน(คณะกรรมการนักเรียน) จำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ แบบสอบถามการดำเนินกิจกรรม แบบสัมภาษณ์การดำเนินกิจกรรม แบบประเมินผลการดำเนินงานการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน และ แบบสังเกตคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักศึกษาโดยครูที่ปรึกษาและผู้ปกครองนักเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนที่ประกอบด้วย 3 รูปแบบย่อย ได้แก่ รูปแบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และรูปแบบกิจกรรมนักเรียน โดยนำทั้ง 3 รูปแบบนี้บูรณาการเข้าไปในการบริหารจัดการ 1) ดำเนินกิจกรรมประจำวัน ได้แก่ กิจกรรมก่อนเข้าเรียน(ก่อนเวลา 08.30 น.) กิจกรรมการเรียนการสอน (เริ่มเรียนคาบแรกเวลา 08.30 น.) และกิจกรรมยามว่าง (พักกลางวันหรือช่วงที่ไม่ต้องเรียน 09.30 น.) กิจกรรมลูกเสือวิสามัญและรักษาดินแดง (ทุกวันพุธเวลา 14.30 – 16.30 น.) และกิจกรรมพัฒนาวิชาการและชุมนุมวิชาการ (ทุกวันศุกร์เวลา 14.30-16.30 น.) และ 3) ดำเนินกิจกรรมส่งเสริม (ยกย่องการทำความดี) และดูแลช่วยเหลือพัฒนานักเรียน (กระทำผิดระเบียบละเมิดข้อตกลงหรือเรียนอ่อน) ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมและกิจกรรมช่วยเหลือและพัฒนา ดำเนินการในลักษณะการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 2 วงรอบ วงรอบที่ 1 ดำเนินการระหว่างภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 และวงรอบที่ 2 ดำเนินการระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 พบว่า รูปแบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนโนนกอกวิทยา เป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ได้ดี นักเรียนมีพัฒนาการด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากผลการสัมภาษณ์และสอบถามผู้ร่วมวิจัยและผู้ให้ข้อมูลสำคัญ มีความเห็นตรงกันว่า กิจกรรมและรูปแบบต่างๆที่นำมาใช้มีส่วนส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนอย่างมาก ทำให้นักเรียนของโรงเรียนโนนกอกวิทยาโดยภาพรวมมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ดีขึ้นมาก สอดคล้องกับผลการวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนที่พบว่าทั้งครูที่ปรึกษาและผู้ปกครองนักเรียนมีความเห็นว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.08 , S.D. = 0.64 ) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยและผู้ร่วมวิจัยที่สอดคล้องเป็นไปทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ หลังจากโรงเรียนนำรูปแบบการบริหารจัดการมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน มีผลทำให้นักเรียนมีพัฒนาการของพฤติกรรมและการเรียนไปในทางที่ดีมาก
2. ครูที่ปรึกษาและผู้ปกครอง ที่ดูแลนักเรียนในระหว่างที่มาเรียนและอยู่ที่บ้าน โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิดตามรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์นักเรียนโรงเรียนโนนกอกวิทยา คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินการตามรูปแบบประสบความสำเร็จ สามารถส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี