ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตรา
ตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕
ผู้รายงาน นางจารุวรรณ พุทธลา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ
โรงเรียน อนุบาลร้อยเอ็ด
ปีที่ศึกษา ๒๕๕๙
บทคัดย่อ
รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด
เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้อ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตรา
ได้ถูกต้อง การอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด เป็นเรื่องที่ยาก นักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องการเรียนรู้เรื่องนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการอ่าน
และเขียนให้กับนักเรียน ดังนั้นผู้รายงานจึงได้พัฒนาแบบฝึกทักษะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ ๕ ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำ
ไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียน และหลังเรียนของนักเรียน เพื่อหาดัชนีประสิทธิผล
ของแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕
และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕/๙ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ โรงเรียนอนุบาลร้อยเอ็ด จำนวนนักเรียน ๔๙ คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบฝึกทักษะ จำนวน ๑๒ ชุด แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ ๔ ตัวเลือก จำนวน ๓๐ ข้อ ซึ่งค่าความยากตั้งแต่ ๐.๖๘ ถึง ๐.๗๘ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๔๐ ถึง ๐.๗๒ และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๘๓ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะ จำนวน ๒๐ ข้อ
ซึ่งมีค่าจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๒๓ ถึง ๑.๐๐ และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๘
สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐาน
โดยใช้ t-test แบบ dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีประสิทธิภาพเท่ากับ ๘๓.๒๑/๘๒.๔๕ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้
๒. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ทั้ง ๑๒ ชุด มีค่าเฉลี่ยของคะแนน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๓. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีค่าเท่ากับ ๐.๗๒๗๐ หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๒.๗๐
๔. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตรา
ตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ มีความพึงพอใจในการเรียนอยู่ในระดับมาก
โดยสรุป แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนสะกดคำไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ เป็นสื่อที่น่าสนใจ เรียนรู้ได้ง่าย ทำให้นักเรียนมีความรู้ และมีความสามารถทางการเรียนรู้สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียน
เกิดการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในโอกาสต่อไป