ชื่อเรื่อง การศึกษาแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
โรงเรียนเทศบาล 4 เจริญอุปถัมภ์ปัญญาธร
ผู้เสนอ นายอิทธิพงษ์ วรสายัณห์ ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนเทศบาล 4 เจริญอุปถัมภ์ปัญญาธร เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ปีที่เผยแพร่ 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ (1) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (2) อันดับความสำคัญของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประชากรที่ใช้คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 4 เจริญอุปถัมภ์ปัญญาธร เทศบาลเมืองพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ปีการศึกษาที่ 2/2558 จำนวน 120 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ และแบบสอบถามปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ ตามแนวคิดของออลส์ท, อีมัส และแคปเทย์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการจัดอันดับ
ผลการวิจัยพบว่า
1. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
โดยภาพรวมแล้วอยู่ในระดับสูง ปัจจัยทั้ง 3 ด้านคือด้านลักษณะของนักเรียน ด้านการเรียนการสอน และด้านสภาพแวดล้อมทางบ้านส่งผลทางตรงต่อแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิยาศาสตร์ ได้แก่ความรู้เดิม ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ มโนทัศน์เกี่ยวกับตนเอง ค่านิยมต่อวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ การติดตามข้อมูลข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ บรรยากาศการเรียนการสอน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเสริมหลักสูตรวิทยาศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า ความรู้เดิมมีผลต่อแรงจูงใจทำให้เกิดความสนใจ ถ้านักเรียนมีความรู้เดิมโดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์มากก็จะทำให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจทางวิทยาศาสตร์
2. อันดับความสำคัญของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ผลการศึกษาพบว่านักเรียนมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์ จากปัจจัยที่ส่งเสริมจัดอันดับความสำคัญได้ดังนี้ อันดับที่ 1 ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว อันดับที่ 2 ค่านิยมต่อวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 3 บุคลิกลักษณะของครูวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 4 พฤติกรรมการสอนของครูวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 5 ความสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียน อันดับที่ 6 การติดตามข้อมูลข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 7 สภาพแวดล้อมของครูวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 8 บรรยากาศการเรียนการสอน อันดับที่ 9 มโนเกี่ยวกับตัวเอง อันดับที่ 10 สื่อและอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 11 ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 12 การอบรมเลี้ยงดู อันดับที่ 13 การสนับสนุนส่งเสริมด้านการเรียนจากครอบครัว และอันดับที่ 14 การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเสริมหลักสูตร