ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ค้นหากระทู้
ตั้งกระทู้คำถามใหม่ กลับหน้าที่แล้ว
 
การวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรี

ชื่องานวิจัย การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

ชื่อผู้วิจัย นายบุญรอด แสงสว่าง

ชื่อหน่วยงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

ปีที่วิจัย พ.ศ.2559

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart) ดำเนินการ 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย 14 คน ได้แก่ ผู้วิจัย จำนวน 1 คน และกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 3 คน และนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา 10 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 162 คน ประกอบด้วย วิทยากร 1 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน และผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 160 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบทดสอบ แบบบันทึก แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน และแบบสอบถาม การตรวจสอบข้อมูล ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)

ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ผลจากการศึกษาดูงาน พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สื่อ นิทรรศการฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก กลุ่มเป้าหมาย

มีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบ และมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ ผลจากการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่ยังมีปัญหาบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอน ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้เหมาะสมเท่าที่ควร การดำเนินกิจกรรมยังไม่ต่อเนื่อง บางกิจกรรมมีการพัฒนาดีขึ้น แต่บางกิจกรรมยังติดขัดไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ยังไม่หลากหลาย การเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่การนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังมีส่วนที่บกพร่องอยู่บ้าง จึงต้องพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม โดยเน้นแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ในวงรอบที่ 1 โดยกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้ร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาและคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

สรุปได้ว่า การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน เป็นกลยุทธ์และกิจกรรมที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทนำ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 4 ได้กล่าวถึง “การศึกษา” หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และมาตรา 22 กำหนดไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษายึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ เน้นการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ให้ความสำคัญของการบูรณาการความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของระดับการศึกษาโดยเฉพาะความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์เรื่องการจัดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน (สมจิต สวธนไพบูลย์ และคณะ. 2550 : 1-2)

การจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เน้นกระบวนการที่นักเรียนเป็นผู้คิด ลงมือปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบ ด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการทำกิจกรรมภาคสนาม การสังเกต การสำรวจ ตรวจสอบ การทดลองในห้องปฏิบัติการ การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ปฐมภูมิและทุติยภูมิ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะ ประสบการณ์เดิมสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่นักเรียนได้รับรู้มาแล้วก่อนเข้าสู่ห้องเรียน การเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้นระหว่างที่นักเรียนมีส่วนร่วมโดยตรง ในการทำกิจกรรมการเรียนเหล่านั้น จึงจะมีความสามารถในการสืบเสาะหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นแนวคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดอย่างอิสระเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด กระทรวงศึกษาธิการได้สรุปเชิงหลักการไว้ว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริงและเงื่อนไขการรับรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนมีอิสรภาพได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทั้งจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ผู้เรียนได้รับการพัฒนาแบบองค์รวม ได้รับการฝึกให้มีศักยภาพในการสร้างรูปแบบการคิด ผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้ถูกต้องแม่นยำตามธรรมชาติของวิชา ด้วยความรู้สึกที่ดีงามอันเป็นการสร้างบุคลิกที่ดีงาม คิดเป็นระบบและวิจารณญาณ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่ใช่วิธีการเรียนรู้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งแต่เป็นกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ (Learning Paradigm) ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง โดยใช้ทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพทั้งของครูและนักเรียน (สุภรณ์ สภาพงศ์. 2545 : 31-32)

สภาพปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา จากการรายงานผลการประเมินตนเอง (SAR) ของสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2558 พบว่า บุคลากรโดยเฉพาะนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา ส่วนใหญ่มีวุฒิปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และไม่มีวุฒิทางด้านการศึกษา จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ลงสู่การปฏิบัติ ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาโดยให้สถานศึกษาพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจากรายงานการประเมินคุณภาพสถานศึกษาโดยต้นสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา เมื่อวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2558 พบว่า ผลการประเมินในภาพรวมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 90.32 มีระดับคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีมาก แต่ได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาสถานศึกษา ดังนี้ สถานศึกษาควรพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร การจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ

จากเหตุผลดังกล่าวดังกล่าว ผู้วิจัยในฐานะที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้เต็มตามศักยภาพในด้านการแสวงหาความรู้กระบวนการทำงาน ทักษะต่างๆ และยังได้ฝึกลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์หลายๆ ด้าน แทนที่จะเน้นด้านความรู้เพียงด้านเดียว เป็นกิจกรรมการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการปฏิบัติจริงในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ทดลอง ค้นคว้า ประดิษฐ์ คิดค้น โดยมีครูผู้สอนคอยกระตุ้นแนะนำและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปบูรณาการกับกิจกรรมที่จะทำเพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ด้วยการสร้างความหมาย การแก้ปัญหาและการค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้ศึกษาสภาพปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน ประกอบกับหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้วจึงเห็นว่าการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาสถานศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ค่ายวิทยาศาสตร์ของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติตามหลักสูตรของสถานศึกษา และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของบุคลากรให้เป็นไปอย่างมีระบบ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนและจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

ความมุ่งหมายของการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดความมุ่งหมายของการวิจัย ไว้ดังนี้

1. เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

2. เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้

3. เพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้

กลุ่มเป้าหมายของการวิจัย

การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ผู้วิจัยกำหนดกลุ่มเป้าหมายดังนี้

1. กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 14 คน ประกอบด้วย

1.1 ผู้วิจัย ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา

1.2 กลุ่มเป้าหมายและผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 3 คนนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา 10 คน

2. กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการวิจัย จำนวน 162 คน ประกอบด้วย วิทยากร 1 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน และผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 จำนวน 160 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)

วิธีดำเนินการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart. 1988 : 11-15 ; อ้างถึงใน พินันทร์ คงคาเพชร. 2552 : 41) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นการวางแผน (Planning) ขั้นการปฏิบัติ (Action) ขั้นการสังเกต (Observation) และขั้นการสะท้อนผล (Reflection) ให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้

1. ขั้นการวางแผน (Planning)

1.1 ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ว่ามีปัญหาและสาเหตุมาจากสิ่งใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกันเป็นข้อมูลพื้นฐาน ใช้เป็นแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ

1.2 เป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนา เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา บรรลุผลตามเป้าหมาย คือ ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ดังนี้ การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน

1.3 กำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา โดยระบุกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เป้าหมายของแต่ละกิจกรรม ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรม วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล แหล่งข้อมูล

2. ขั้นการปฏิบัติ (Action)

กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action Pan) เพื่อพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้

2.1 การศึกษาดูงาน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 14 มีนาคม 2559

2.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการ ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ จำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุมจันทร์ประดับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ได้เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย พร้อมฝึกปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

2.3 การนิเทศภายใน การนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม การติดตามช่วยเหลือ โดยผู้วิจัยเป็นผู้นิเทศคอยให้คำปรึกษา แนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

3. ขั้นการสังเกตผล (Observation)

กิจกรรมการศึกษาดูงาน เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกต การสัมภาษณ์ และการบันทึกสรุปผลการศึกษาดูงาน กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทดสอบก่อนและหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสังเกตพฤติกรรม และสัมภาษณ์และประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมการนิเทศภายใน เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

4. การสะท้อนผล (Reflection)

ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ โดยผลการสัมภาษณ์ผู้เรียน การประชุมปรึกษาหารือผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสรุปผลการดำเนินการแต่ละขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

1. แบบทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ ใช้ทดสอบความรู้ก่อนและหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

2. แบบบันทึก จำนวน 1 ฉบับ ใช้บันทึกสรุปผลและอภิปรายผลจากการศึกษาดูงานของกลุ่มเป้าหมาย

3. แบบสังเกต จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ใช้สังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างการศึกษาดูงาน ฉบับที่ 2 ใช้สังเกตพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายขณะประชุมเชิงปฏิบัติการและ ฉบับที่ 3 ใช้สังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ในระหว่างการนิเทศภายใน

4. แบบสัมภาษณ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างใช้สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายหลังจากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ฉบับที่ 2 เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ใช้สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ

5. แบบประเมิน จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 ใช้ประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ฉบับที่ 2 ใช้ประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

6. แบบสอบถาม จำนวน 1 ฉบับ ใช้สอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย

สรุปผล

การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ผู้วิจัยดำเนินการพัฒนาโดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแม็กแท็กการ์ท (Kemmis and McTaggart) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ สรุปผลการพัฒนาได้ดังนี้

การพัฒนาในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ผลจากการศึกษาดูงาน พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สื่อ นิทรรศการฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ และมีข้อเสนอให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ จัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบ และมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ ผลจากการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่ยังมีปัญหาบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอน ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้เหมาะสมเท่าที่ควร การดำเนินกิจกรรมยังไม่ต่อเนื่อง บางกิจกรรมมีการพัฒนาดีขึ้น แต่บางกิจกรรมยังติดขัดไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ยังไม่หลากหลาย การเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่การนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังมีส่วนที่บกพร่องอยู่บ้าง จึงต้องพัฒนาในวงรอบที่ 2 ต่อไป

การพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ การนิเทศภายใน ใช้ในการพัฒนามีการนิเทศ กำกับ ติดตาม โดยเน้นแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ในวงรอบที่ 1 โดยกลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้ร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาและคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

อภิปรายผล

การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน ดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ เมื่อครบ 2 วงรอบแล้ว ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ น้ำเพชร ทับชา (2557 : 83-84)

ได้ศึกษาการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนอนุบาลแกดำ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม ขต 1 โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มขึ้น นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกิจกรรมการเรียนเป็นอย่างดี และมีความสุขในการเรียน ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทุกคนมีความพอใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้และมีความสนใจ กระตือรือร้น

มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลการวิจัยของ นงลักษณ์ นนตระอุดร (2555 : 159-165) ได้ทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551โรงเรียนแวงพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 23 แนวทางการพัฒนาคือการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายในและการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด มีความสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด

และกลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด และพบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับผลการศึกษาของ จงกล ผลประสาท (2553 : 126-129) ได้ศึกษาการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางวิทยา อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการ กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ การฝึกอบรม การศึกษาดูงานนอกสถานที่ และการนิเทศ พบว่า บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของบุญเพ็ง ซุยถัง (2553 : 82-85) ได้ศึกษาพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบบูรณาการ โรงเรียนบ้านวังตาลาดสมบูรณ์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบบูรณาการ สามารถเขียนแผนการเรียนรู้แบบบูรณการ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้ง 6 ขั้นตอนได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับผลการศึกษาของประดิษฐ์ บุญเรืองวัตร (2553 : 100-101) ได้ทำการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโรงเรียนบ้านเข็งมิตรภาพที่ 139 อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรคือ การศึกษาเอกสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนแผนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Sturtz (2008 : Unpaged) ได้ทำการวิจัยพัฒนาการปฏิบัติการสอนของครูและความคิดเห็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า การสอนของครูมีการเตรียมแผนการสอน มีการวางแผนการสอน การจัดกิจกรรมการสอนมีการเน้นกิจกรรมให้ผู้เรียนทำ มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างครูและนักเรียน นอกจากนี้ครูยังมีการวางแผนสำหรับการเอาใจใส่นักเรียนมากขึ้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ เกษมศักดิ์ ฆ้องลา (2552 : 141-142) ได้ศึกษาพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนกุดบงพิทยาคาร อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยใช้กลยุทธ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน พบว่าครูมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แก้ปัญหาการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ อันทนา เข็มพิมาย (2552 : 77-83) ได้ศึกษาการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนบ้านคูเมือง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา

โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน การนิเทศภายใน พบว่า ครูมีความรู้ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ครูสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานและนำแผนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานไปปฏิบัติการสอนได้ ทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง

จากการใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน

ในการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วนั้น สามารถอภิปรายผลได้ดังนี้

1. จากการใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน โดยมีการศึกษาดูตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สื่อ นิทรรศการ ฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่า จากการที่ได้ไปศึกษาดูงาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การนำพาบุคลากรไปดูการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เห็นว่ามีผลการปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อให้บุคลากรได้รับประสบการณ์ตรงเกิดทัศนคติในการปฏิบัติงานและนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานและพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มคุณภาพให้ดียิ่งขั้น นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการให้ขวัญกำลังใจแก่บุคลากร ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของสมจินตนา ภักศรีวงศ์ (2540 : 81) ที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาดูงานเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมวลประสบการณ์แก่บุคลากรในหน่วยงานให้ได้รับความรู้ความเข้าใจรับคำปรึกษาแนะนำ หรือวิธีการแนวทาง ตลอดจนรูปแบบต่างๆ ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพของตน และหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อการปรับปรุงพัฒนางานให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรให้ได้มีสัมพันธภาพที่ดี ทั้งกับบุคคลในหน่วยงานเดียวกันและหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เกิดวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็นแนวทางและวิธีการที่จะส่งเสริมงานให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2540 : 102) ที่ระบุไว้ว่า การดูงานนอกสถานที่ไว้ว่าเป็นการพาบุคลากรไปทัศนศึกษาดูงานในหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ ที่ปฏิบัติงานดีเด่นด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรเกิดวิสัยทัศน์ แนวคิดที่จะนำมาปรับปรุงมาพัฒนางานของตน นอกจากนี้การไปศึกษาดูงานยังช่วยให้บุคลากรเกิดความสัมพันธ์มีความรู้สึกที่ดีต่อกันเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและลดปัญหาความขัดแย้งในองค์การได้ด้วย และสอดคล้องกับแนวคิดของ สมิต สัชฌุกร (2543 : 45) ที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาดูงาน เป็นการการพาบุคลากรไปทัศนศึกษาดูงานในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ปฏิบัติงานดีเด่น ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรเกิดวิสัยทัศน์ แนวคิดที่จะนำมาปรับปรุงและพัฒนางานของตน

2. จากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยกิจกรรมการบรรยายของวิทยากร และการฝึกปฏิบัติตามกิจกรรม พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบและมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคน และจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ ช่วยให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ และได้ฝึกทักษะตามขั้นตอน กระบวนการทำงานที่ต้องกลับไปปฏิบัติจริงผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้ารับการอบรมด้วยกันจากวิทยากร ทำให้สามารถปรับปรุงการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความมั่นใจที่จะนำความรู้ไปปฏิบัติจริง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกันและวิทยากร และสร้างบรรยากาศในความร่วมมือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการประชุมเชิงปฏิบัติการ สามารถช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ทั้งด้านเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียน ปัญหาการเรียนการสอนต่างๆ และปรับปรุงคุณภาพการศึกษาตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวคิดของ สมคิด บางโม (2545 : 92) ที่กล่าวไว้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นการฝึกอบรมที่ให้ผู้รับการฝึกอบรมได้ปฏิบัติจริง โดยทั่วไปจะมีการบรรยายให้ความรู้พื้นฐานก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ อาจเป็นการฝึกการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ประชุมเพื่อช่วยกันสร้างคู่มือหรือประชุมเพื่อสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น การปฏิบัตินิยมให้รวมกันเป็นกลุ่มย่อยๆ มากกว่าปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่หรือรายบุคคล สอดคล้องกับแนวคิดของ สมิต สัชฌุกร (2543 : 16-18) ที่กล่าวไว้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการมีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีม การแสวงหาความร่วมมือและความรับผิดชอบของบรรดาสมาชิก ประโยชน์ที่สำคัญช่วยให้การทำงานทางความคิดร่วมกันช่วยให้เกิดความรับผิดชอบ ผูกพันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมและแบ่งเบาภาระรับผิดชอบช่วยให้มีความรอบคอบในการตัดสินใจ ช่วยให้การรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมีความกว้างขวางครอบคลุม ช่วยในการประสานงาน ประสานความคิดเห็น และความเข้าใจช่วยให้มีการหยั่งความคิดเห็นใหม่ๆ ในวิธีการต่างๆ และมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหลายๆ คน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาบุคลากรระหว่างผู้บริหารกับครูผู้สอน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานโดยใช้เทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและวิธีการได้เอง

3. จากการใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน โดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม กำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ และคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด ผลการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมาย สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า การนิเทศภายในโดยกิจกรรมการประชุมกลุ่ม การติดตามช่วยเหลือ และคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้นิเทศ โดยมีความสัมพันธ์ที่มุ่งช่วยเหลือกัน ผสมผสานกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เชื่อใจไว้ใจกันเพื่อช่วยเหลือปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ต่างก็อยู่ในหน่วยงานการศึกษาเดียวกัน ย่อมสามารถวิเคราะห์ผลการจัดการเรียนการสอน เพื่อหาจุดที่ยังเป็นปัญหาหรือจุดที่ต้องพัฒนา ตลอดจนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงได้ดี การนิเทศจึงเน้นการร่วมมือระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับนิเทศ ช่วยให้เกิดการยอมรับสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ร่วมในคิดค้น ทำให้เกิดความเต็มใจปฏิบัติงานแนวทางการพัฒนางาน ซึ่งได้ร่วมกันกำหนดไว้ ทำให้การนิเทศได้ผลดีมากกว่าการชี้แนะจากบุคคลภายนอก สอดคล้องกับแนวคิดของสุรศักดิ์ ศิริ (2550 : 62) ที่กล่าวไว้ว่า การนิเทศภายใน เป็นการให้คำแนะนำ เสนอแนะสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียนหรือบุคลากรภายในโรงเรียน เพื่อให้ครูภายในโรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรจนเกิดประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนด้วยกระบวนการต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนของครู และการบริหารจัดการของผู้บริหารโรงเรียน และสอดคล้องกับแนวคิดของ สายันต์ วะเกิดเป้ง (2554 : 80) ที่กล่าวไว้ว่า การนิเทศภายในเป็นกระบวนการชี้แนะ แนะนำช่วยเหลือ สนับสนุน การให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโดยยึดหลักประชาธิปไตย การปรับปรุง การนำ (Leading) การอำนวยการหรือการสั่งการ (Directing) การประสานงาน (Co-ordinating) แก่ครู ผู้บริหารในการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างในสถานศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหลักสูตร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้

1.1 สถานศึกษา ควรนำหลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการมาพัฒนาสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

1.2 สถานศึกษา ควรส่งเสริมให้บุคลากรไปศึกษาดูงานด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

1.3 สถานศึกษา ควรส่งเสริมให้บุคลากรผลิตสื่อหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

1.4 สถานศึกษา ควรมีการนิเทศภายในอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อกระตุ้นให้บุคลากรเกิดการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องและเกิดการพัฒนามากขึ้น

1.5 สถานศึกษา ควรมีการเผยแพร่ความรู้ และเทคนิควิธีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปยังสถานศึกษาแห่งอื่นๆ เพื่อพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของบุคลากรในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

2.2 ควรทำการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสอนของบุคลากรในสถานศึกษา

2.3 ควรทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านการวัดผลประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

2.4 ควรทำการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

โดยใช้กระบวนการสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง

2.5 ควรมีการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน

เอกสารอ้างอิง

เกษมศักดิ์ ฆ้องลา. การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โรงเรียนกุดบงพิทยาคาร อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย. การศึกษาค้นคว้าอิสระ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,

2552.

จงกล ผลประสาท. การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยยึดหลักปรัชญา

เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านยางวิทยา อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา. การศึกษา

ค้นคว้าอิสระ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาสารคาม :

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.

นงลักษณ์ นนตระอุดร. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้นการจัด

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

พุทธศักราช 2551 โรงเรียนแวงพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

เขต 23. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา

มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2555.

น้ำเพชร ทับชา. การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนอนุบาล

แกดำ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1. วิทยานิพนธ์

ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย

มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2557.

บุญเพ็ง ซุยถัง. การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแบบบูรณาการ

โรงเรียนบ้านวังตาลาดสมบูรณ์ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ. การศึกษาค้นคว้าอิสระ

ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาสารคาม :

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.

ประดิษฐ์ บุญเรืองวัตร. การพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โรงเรียนบ้านเข็งมิตรภาพที่ 139 อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม.

การศึกษาค้นคว้าอิสระ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา

มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2553.

พินันทร์ คงคาเพชร. การวิจัยปฏิบัติการชั้นเรียน. กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์คอร์เปอเรชั่น,

2552.

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. การบริหารทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางการศึกษา.

มหาสารคาม : อภิชาตการพิมพ์, 2540.

สมิต สัชฌุกร. เทคนิคการประชุม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543.

สมจิต สวธนไพบูลย์ และคณะ. โครงการวิจัย : การวัดและประเมินผลรูปแบบการเรียนการสอน

ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. ได้รับทุนการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์

เทคโนโลยี. กรุงเทพฯ : ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550.

สมจินตนา ภักศรีวงศ์. เอกสารประกอบการประชุมหัวหน้าหน่วยงานประจำปี. กรุงเทพฯ :

กรมสามัญศึกษา, 2540.

สายันต์ วะเกิดเป้ง. การวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาความสามารถของครูด้านการจัด

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนบ้านเม่นน้อย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่

การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต

สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2554.

สุรศักดิ์ ศิริ. รายงานการศึกษาการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา. กรุงเทพฯ : ธารอักษร, 2550.

สุภรณ์ สภาพงศ์. “การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด,” วารสารวิชาการ. 5 (3) : 31-32 ; มีนาคม, 2545.

อันทนา เข็มพิมาย. การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานโรงเรียน

บ้านคูเมือง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา. การศึกษาค้นคว้าอิสระ

ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาสารคาม :

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2552.

Kemmis, S. and R. McTaggart. The Action Research Planner. 3 rd. ed. Victoria :

Deakin University Press, 1988.

Sturtz, John P. “Exploring a Beginning History Teacher’s Thinking Though the Phases

of Teaching,” Dissertation Abstracts International. 68 (10) : April, 2008.

โพสต์โดย ตน กศน. : [15 ก.ค. 2559 เวลา 21:33 น.]
อ่าน [5621] ไอพี : 118.175.255.74
หากข้อความนี้ไม่เหมาะสม คลิก คลิกปุ่มนี้ หากเห็นว่าข้อความนี้ไม่เหมาะสม
 
 

โพสต์โดย

คุณ -

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เปิดอ่าน 10,919 ครั้ง
สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหว8.9ริคเตอร์
สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหว8.9ริคเตอร์

เปิดอ่าน 10,706 ครั้ง
"การศึกษาหันหลัง" คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
"การศึกษาหันหลัง" คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

เปิดอ่าน 78,500 ครั้ง
"โมเต็ล"แตกต่างจาก "โฮเต็ล" (Hotel) อย่างไร
"โมเต็ล"แตกต่างจาก "โฮเต็ล" (Hotel) อย่างไร

เปิดอ่าน 17,703 ครั้ง
ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552

เปิดอ่าน 13,217 ครั้ง
แบบตรวจสอบการเรียนผ่านเครือข่าย
แบบตรวจสอบการเรียนผ่านเครือข่าย

เปิดอ่าน 23,074 ครั้ง
บรรยากาศ (ATMOSPHERE)
บรรยากาศ (ATMOSPHERE)

เปิดอ่าน 11,983 ครั้ง
ปฏิรูปการศึกษาหลังยุค รธน.มีชัย โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ปฏิรูปการศึกษาหลังยุค รธน.มีชัย โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เปิดอ่าน 12,971 ครั้ง
หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนวิทยฐานะครูใหม่ : ยิ่งแก้ ยิ่งวน
หลักเกณฑ์ฯ เลื่อนวิทยฐานะครูใหม่ : ยิ่งแก้ ยิ่งวน

เปิดอ่าน 13,427 ครั้ง
เชิญชวนสังเกตุปรากฏการณ์ธรรมชาติ สุริยุปราคา 26 มกราคม 2552
เชิญชวนสังเกตุปรากฏการณ์ธรรมชาติ สุริยุปราคา 26 มกราคม 2552

เปิดอ่าน 12,241 ครั้ง
ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากไททานิค
ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากไททานิค

เปิดอ่าน 21,220 ครั้ง
"แก่นตะวัน" สุดยอดพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์
"แก่นตะวัน" สุดยอดพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์

เปิดอ่าน 16,371 ครั้ง
7 เคล็ดลับผิวสว่างใส สำหรับสาวย่าง 30
7 เคล็ดลับผิวสว่างใส สำหรับสาวย่าง 30

เปิดอ่าน 1,113 ครั้ง
9 ประเภทธุรกิจที่โดดเด่นและน่าจับตามอง ปี 2567
9 ประเภทธุรกิจที่โดดเด่นและน่าจับตามอง ปี 2567

เปิดอ่าน 41,599 ครั้ง
เพลง "อิ่มอุ่น"
เพลง "อิ่มอุ่น"

เปิดอ่าน 16,777 ครั้ง
เทคนิคการถ่ายภาพขนมให้ไฉไลน่ากินมันไม่ได้ยาก
เทคนิคการถ่ายภาพขนมให้ไฉไลน่ากินมันไม่ได้ยาก

เปิดอ่าน 52,053 ครั้ง
เเนะ 7 วิธีมี "เงินเก็บ" เพิ่มมากขึ้นภายใน 1 ปี
เเนะ 7 วิธีมี "เงินเก็บ" เพิ่มมากขึ้นภายใน 1 ปี
เปิดอ่าน 11,544 ครั้ง
การศึกษาในกะลา
การศึกษาในกะลา
เปิดอ่าน 15,283 ครั้ง
ชาวเน็ตแห่เล่น "หิมะ" ตกในเมืองไทย
ชาวเน็ตแห่เล่น "หิมะ" ตกในเมืองไทย
เปิดอ่าน 12,174 ครั้ง
ชมย้อนหลัง ดูดวงปี 58 กับ หมอช้าง และ อ.คฑา จากรายการตีสิบ
ชมย้อนหลัง ดูดวงปี 58 กับ หมอช้าง และ อ.คฑา จากรายการตีสิบ
เปิดอ่าน 11,039 ครั้ง
5 เทคโนโลยีสำคัญในปี 2559
5 เทคโนโลยีสำคัญในปี 2559

รายการหลัก

หน้าแรก
ข่าว/บทความ
สมุดเยี่ยม
กระดานสนทนา
เว็บลิงค์
ผู้จัดทำเว็บครูบ้านนอก
ข้อมูลบุคคล
ภาพกิจกรรม
ผู้สนับสนุน

สมาชิก

เข้าสู่ระบบ
คุณครูต้องรู้ไว้
รวมแบบฟอร์มต่างๆ

เว็บน่าสนใจ

เว็บไซต์ สพฐ.
กระทรวงศึกษาธิการ
เครื่องมือวิทยาศาสตร์
เครื่องมือวัด
เครื่องมืออุตสาหกรรม
เกมส์
แหล่งรวมเกมส์

แหล่งรวมเกมส์
สพป.มุกดาหาร



 เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ คลายเครียด

เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้
      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ