ชื่องานวิจัย การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา
ชื่อผู้วิจัย บุญรอด แสงสว่าง
ชื่อหน่วยงาน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ปีที่วิจัย พ.ศ.2559
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของเคมมิส และแม็กแท็กการ์ท ดำเนินการ 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย 14 คน ได้แก่ ผู้วิจัย จำนวน 1 คน และกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 3 คน และนักวิชาการวิทยาศาสตร์ศึกษา 10 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 162 คน ประกอบด้วย วิทยากร 1 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน และผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 160 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบทดสอบ แบบบันทึก แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน และแบบสอบถาม การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา แล้วนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ผลจากการศึกษาดูงาน พบว่า กลุ่มเป้าหมายได้ศึกษาตัวอย่างกิจกรรมวิทยาศาสตร์ สื่อ นิทรรศการฐานการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมบูรณาการทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสะเต็มศึกษา และร่วมกันสรุปผลจากการศึกษาดูงานได้ว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาได้ ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมที่เหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก กลุ่มเป้าหมาย
มีความสนใจในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีเจตคติที่ดีต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีการนำข้อเสนอแนะให้ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบ และมีความตั้งใจที่จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการไปใช้ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกคนและจากการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง และสามารถนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมชัดเจน มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ ผลจากการนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 13 คน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่ยังมีปัญหาบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอน ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้เหมาะสมเท่าที่ควร การดำเนินกิจกรรมยังไม่ต่อเนื่อง บางกิจกรรมมีการพัฒนาดีขึ้น แต่บางกิจกรรมยังติดขัดไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้
ยังไม่หลากหลาย การเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีความถูกต้องเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่การนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังมีส่วนที่บกพร่องอยู่บ้าง จึงต้องพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศภายใน มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม โดยเน้นแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ในวงรอบที่ 1 โดยกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ได้ร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาและคอยให้คำปรึกษาแนะนำซึ่งกันและกัน
อย่างใกล้ชิด ช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกคน และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
สรุปได้ว่า การศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน เป็นกลยุทธ์และกิจกรรมที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ