ชื่องานประเมิน : รายงานผลการประเมินโครงการการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงาน
ของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านดินแดง สังกัดเทศบาลตำบลย่านดินแดง
อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้ประเมิน : ลักษมี ชุมภูธร
ปีที่ประเมิน : ปี 2558
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินผลการพัฒนาโครงการการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านดินแดง สังกัดเทศบาลตำบลย่านดินแดง ในครั้งนี้ เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการ โดยผู้ประเมินเลือกใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) ตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) และขยายผลผลิตเป็น IEST การดำเนินการประเมินโครงการเพื่อพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานนั้น มีขอบเขตการพัฒนาออกเป็น 2 ด้าน คือ ขอบเขตด้านประชากร ที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการงานด้านวิชาการของโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลย่านดินแดง สังกัดเทศบาลตำบลย่านดินแดง อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีการศึกษา 2558 จำนวน 11 คน และ ขอบเขตเนื้อหาการประเมิน เป็นรายด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยป้อน (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) ด้านผลกระทบของโครงการ (Impact) ด้านประสิทธิผลของโครงการ (Effectiveness) ด้านประเมินความยั่งยืนของโครงการ (Sustainability) ด้านประเมินการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ (Transportability) ผู้ประเมินได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์หาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำผลที่ได้เปรียบเทียบกับระดับผลของการประเมินแต่ละรายการตามที่ได้กำหนดไว้ ผลที่ได้นำเสนอในรูปแบบตารางประกอบคำบรรยาย
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ด้านการประเมินบริบท (Context ) ผลการมีประเมินในภาพรวมคุณภาพอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า อยู่ในระดับมาก ทุกข้อโดยเรียงลำดับดังนี้ สามารถใช้ในการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของครูได้อย่างเหมาะสม รองลงมา คือ โครงการนี้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาทุกระดับ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงเรียน สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน มีการกำหนดงานจัดประสบการณ์การเรียนรู้ไว้ในฝ่าย/งานได้ถูกต้องเหมาะสม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
2. ด้านการประเมินปัจจัยป้อน (Input) ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า มีแผนควบคุม กำกับ ติดตาม การดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน มีผลการประเมินเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ มีการประเมินผลระหว่างการดำเนินงานเป็นระยะๆ มีผลการประเมินอยู่ในระดับ มากที่สุด ส่วนที่มีผลการประเมินต่ำสุด คือมีการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเป็นระบบมีความเหมาะสมสอดคล้องกับกิจกรรม อยู่ในระดับ มาก
3. ด้านการประเมินกระบวนการ (Process) ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า มีการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง และสามารถขอใช้ข้อมูลสรุปการประเมินได้ทุกเวลาตามต้องการ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ มีการสำรวจความต้องการโดยมีประชุมเชิงปฏิบัติการและนิเทศการสอน, มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจคณะทำงานก่อนการประเมิน, มีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็ว, สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันเวลาที่ต้องการใช้ และ การติดต่อประสานงานกันระหว่างผู้ขอใช้กับผู้ให้บริการก่อนทุกครั้ง อยู่ในระดับ มากที่สุด ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล, มีการตรวจสอบข้อมูลซ้ำ,มีการตรวจสอบการประมวลผล และมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเชื่อถือได้จากแบบประเมินที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว ผลการประเมินอยู่ในระดับ มาก
4. ด้านการประเมินผลผลิต (Product) ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าครูจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานได้สอดรับกับการปฏิบัติงานจริง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ผลการประเมินอยู่ในระดับ มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ครูมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโครงงาน, แบบสรุปผลประเมินโครงการมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ กะทัดรัด อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ สรุปผลการประเมินนำไปใช้ในการรายงาน, สรุปผลการประเมินที่ได้นำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ ผลการประเมินอยู่ในระดับ มาก
5. ด้านผลกระทบของโครงการ (Impact) ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริหารระดับเทศบาลต่อโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือในกิจกรรมของโรงเรียน อยู่ในระดับ มากที่สุด ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือชุมชนให้การสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน อยู่ในระดับ มาก ผลโดยรวมเป็นผลกระทบในทางที่ดี มีความเชื่อมั่นของผู้บริหารระดับเทศบาลต่อโรงเรียนดีมาก ผู้ปกครองให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน มีความเชื่อมั่นของผู้ปกครองต่อโรงเรียนดีมาก โรงเรียนได้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ความเชื่อมั่นต่อพัฒนาการของเด็กทุกคน ทำให้ชุมชนให้การสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนเป็นอย่างดี
6. ด้านประสิทธิผลของโครงการ (Effectiveness) ด้านการประเมินประสิทธิผลของโครงการ เกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านวิชาการของนักเรียนด้านการดำเนินงานที่คุ้มค่า และความพึงพอใจที่มีต่อผลผลิตของโครงการ ในภาพรวมของ ด้านประสิทธิผลของโครงการ ผลการประเมินอยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าความพร้อมด้านพัฒนาการของเด็กที่เรียนจบชั้นอนุบาลปีที่ 3 อยู่ในระดับ มากที่สุด รองลงมาได้แก่ มีความพร้อมในการที่จะเรียนต่อในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ความพึงพอใจของผู้ปกครองที่แสดงต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ อยู่ในระดับ มาก
7. ด้านประเมินความยั่งยืนของโครงการ (Sustainability) ด้านการประเมินความยั่งยืนของโครงการ เกี่ยวกับความสามารถในการบูรณาการความรู้ ทักษะ และกระบวนการปฏิบัติของนักเรียน ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ครูความสามารถนำความรู้ทักษะกระบวนการปฏิบัติที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน,ครูสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพในการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบโครงงาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับ มากที่สุด ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือนักเรียนมีทักษะกระบวนการและความชำนาญในการปฏิบัติกิจกรรม อยู่ในระดับ มาก
8. ด้านประเมินการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ (Transportability) พบว่าด้านการประเมินการถ่ายโยงความรู้ของโครงการ เกี่ยวกับความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ของนักเรียนมีผลการประเมินในภาพรวม อยู่ในระดับ มาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันมีค่าเฉลี่ยสูงสุด อยู่ในระดับ มากที่สุด รองลงมาได้แก่ สามารถต่อยอดองค์ความรู้ในระดับที่สูงขึ้นได้ อยู่ในระดับมาก ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือครูสามารถให้คำปรึกษาแก่เพื่อนครูได้ อยู่ในระดับ มาก