บทที่ 1
บทนำ
ที่มาและความสำคัญ
ความเป็นมาในอดีต หมู่บ้านของคณะผู้จัดทำประกอบอาชีพทำนา แต่ปัจจุบันหันมาขุดบ่อเพื่อที่จะเลี้ยงปลา และ กุ้งขาว เป็นส่วนมาก ส่วนปลากรายที่
คณะผู้จัดทำได้นำมาแปรรูปนั้น เป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีจำนวนมากในบ่อเลี้ยงปลา และกุ้งขาว เมื่อมีจำนวนมาก เจ้าของบ่อที่เลี้ยงปลาและกุ้งขาวจึงนำมาจำหน่ายในราคาที่ไม่แพง และนำไปทำอาหาร ทางคณะผู้จัดทำเห็นว่า ปลากราย สามารถนำมาทำการแปรรูปอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอดมันปลากราย บริเวณเชิงปลากรายนำมาทอดกระเทียมพริกไทย หรือชุบแป้งทอด ข้าวเกรียบปลากราย ปลากรายผัดกระเพรา ลูกชิ้นปลากราย จึงนำกิจกรรมการแปรรูปที่ทำจากปลากราย มานำเสนอ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าได้เป็นอย่างดี
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับนักเรียน
2. ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่า
3. นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการเพิ่มผลผลิตจากโรงเรียนสู่ท้องตลาด
4. นักเรียนสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปประกอบเป็นอาชีพได้
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สามารถทำรับประทานเอง และ นำออกจำหน่ายได้ นักเรียนสามารถแปรรูปอาหารจากปลาที่มีอยู่ในท้องถิ่นมารับประทานและนำไปประกอบอาชีพได้
บทที่ 2
การศึกษาเอกสารอ้างอิง
ชื่อสามัญภาษาไทย ปลากราย
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Clown featherback, Clown knifefish
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala ornata
ลักษณะทั่วไปลักษณะของปลากราย ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae)
มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3-20 ดวง ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 เซนติเมตร ขนาดใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร น้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัม
ถิ่นอาศัย มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วประเทศไทย รวมถึงในประเทศใกล้เคียง
ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเนื้อเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย เป็นส่วนที่นิยมมาปรุงอาหารโดยนำมาทอดกระเทียมหรือชุบแป้งทอดแม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดเยอะ หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทองคำขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ มีชื่อเรียกอื่น เช่น "ปลาหางแพน" ในภาษากลาง "ปลาตอง" ในภาษาอีสาน "ปลาตองดาว" ในภาษาเหนือ เป็นต้น
รูปภาพปลากราย
บทที่ 3
วิธีการดำเนินกิจกรรม
ทอดมันปลากราย
วัตถุดิบ
1. เนื้อปลากรายขูด 2 กิโลกรัม
2. น้ำเกลือสำหรับนวดปลา 1/4 ถ้วยตวง
3. น้ำ 2 ช้อนโต๊ะ
4. กระชาย 1/2 กิโลกรัม
5. เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
6. ไข่ไก่ 1 ฟอง
7. ถั่วฝักยาว 1/2 กิโลกรัม
8. ใบมะกรูดหั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสม : พริกแกง
1. พริกแห้ง ½ ถ้วยตวง
2. พริกไทยเม็ด ½ ช้อนชา
3. เกลือป่น ½ ช้อนชา
4. ตะไคร้ซอย ¼ ถ้วยตวง
5. ข่าซอย 1 ช้อนชา
6. กระเทียมซอย 3 ช้อนโต๊ะ
7. ผิวมะกรูดซอย 1 ช้อนชา
8. รากผักชีซอย 1 ช้อนโต๊ะ
9. กะปิ 1 ช้อนชา
10. หอมแดงซอย 3 ช้อนโต๊ะ
11. น้ำมันพืช (มากพอสำหรับทอดให้ฟูได้)
ขั้นเตรียมวัตถุดิบในการทำทอดมันปลากราย
1. วัตถุดิบสำหรับปรุงพริกแกง
2. เตรียมเนื้อปลากรายขูด
วิธีทำพริกแกงทอดมันปลากราย
1. โขลกพริกไทยให้ละเอียดแล้วใส่รากผักชีโขลกรวมกัน
2. ใส่ข่า ผิวมะกรูด ตะไคร้ พริกแห้ง (ที่แกะเม็ดออกแช่น้ำแล้วบีบให้แห้ง) และเกลือป่นโขลกให้ละเอียด
3. ใส่กระเทียม หอมแดงโขลกให้ละเอียดแล้วจึงใส่กะปิโขลกให้เข้ากันดี
วิธีทำทอดมันปลา
1. นำเนื้อปลากรายขูด (เลือกก้างออกให้หมด) ใส่ภาชนะใช้น้ำแข็งใส่อ่างรองใต้ภาชนะที่ใส่เนื้อปลา เพื่อให้สด และช่วยให้เหนียว
2. ละลายเกลือป่นกับน้ำเพื่อใช้นวดปลาค่อย ๆ ผสมน้ำเกลือทีละน้อย นวดปลาไปจนเหนียว สีของเนื้อปลาจะเป็นเงาใส แสดงว่าเหนียวได้ที่แล้ว (ใช้เวลา 30 นาที)
3. นำพริกแกงที่โขลกแล้วมาผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน
4. ใส่ไข่ไก่ นวดให้เข้ากัน
5. ใส่ถั่วฝักยาวซอย และใบมะกรูดซอย ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน
6. ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ แช่ในอ่างที่มีน้ำแข็งตลอดเพื่อให้สดและเหนียว จนกว่าจะทอดหมด
7. เนื้อปลาที่ปั้น ลงทอดในน้ำมันที่ไฟร้อนปานกลาง ทอดพอเหลือง สุก ใช้ไม้ปลายแหลมเสียบทอดมันที่สุกแล้ว ตั้งทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน จะได้ไม่อมน้ำมัน
8. ทอดมันปลากรายพร้อมรับประทาน
ราคาในการจัดจำหน่าย
ราคา 1 ชิ้น 5 บาท
ราคา 1 ชุด (6 ชิ้น) 30 บาท
เคล็ดลับความอร่อย
1. ปลากรายจะต้องสด
2. การใส่น้ำเกลือขณะนวดปลาจะทำให้เนื้อปลามีความเหนียวมากขึ้น
3. การปั้นทอดมัน ควรจุ่มมือลงในน้ำก่อนหรือน้ำมันพืชเพื่อไม่ให้เนื้อปลาเหนียวติดมือ
4. ใช้ไฟปานกลาง น้ำมันร้อนทอดพอสุก
5. อย่าให้นานเกินไปเนื้อปลาจะแห้งไม่อร่อย
6. สีของทอดมันจะออกสีน้ำตาลออกเหลืองไม่ใช่สีแดงเข้ม
7. มีกลิ่นหอมของเนื้อปลาและเครื่องพริกแกง หอมใบมะกรูดหั่นฝอย ซึ่งช่วยดับกลิ่นคาวปลาด้วย ควรรับประทานขณะยังร้อน