บทคัดย่อ
หัวข้องานวิจัย ผลการใช้แผนผังมโนทัศน์ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางนันทพัทธ์ ทนงค์
วิชา วิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ปีการศึกษา 2557
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ก่อนเรียนและหลัง เรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 2) ศึกษาจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ประการสอนแบบสืบเสาะหา ความรู้ ที่มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม 3) ศึกษาจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ที่มีความคงทนในการเรียนวิชา วิทยาศาสตร์ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนเทศบาลวัดสุคตวราราม จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 20 คน ใช้เวลาทดลอง 18 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ 1) แผนการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ซึ่งได้ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับเหมาะสมมาก 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นแบบทดสอบ ปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก ที่มีความตรงเชิง เนื้อหา มีความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.20 – 0.80 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.2 – 1 และมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.85 3) ทดสอบความคงทนในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ มีค่า t เท่ากับ 12.89
ทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบค่าที (t – test cแบบ dependent)
ผลการวิจัย พบว่า
1. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ .05
2. นักเรียนจำนวนร้อยละ 75 ของนักเรียนทั้งหมดที่ได้รับการสอน โดยใช้แผนผังมโนทัศน์ ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลังเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม
3. นักเรียนจำนวนร้อยละ 75 ของนักเรียนทั้งหมดที่ได้รับการสอนโดยใช้แผนผังมโนทัศน์ ประกอบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ มีความคงทนในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ผ่านเกณฑ์เมื่อเทียบกับค่า t ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์