ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้
เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย ณัฐริกา ฉายสถิตย์
ปีที่ทำการวิจัย 2558
สถานที่วิจัย โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของผู้เรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/13 โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 รายวิชาชีววิทยาเพิ่มเติม จำนวน 38 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยวิธีการจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและทดลอง ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นแบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความยากง่าย (P) ตั้งแต่ 0.26 0.69 ค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ 0.28 0.71 ค่าความเชื่อมั่น (KR-20) เท่ากับ 0.86 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์ จำนวน 20 ข้อ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) เท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t-test (Dependent Sample) ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ระบบย่อยอาหารและการสลายสารอาหารระดับเซลล์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ 89.52/87.57 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (80/80)
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. ดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ มีค่าเท่ากับ 0.8299
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄ = 4.54, S.D. = 0.62)