ชื่อเรื่อง รายงานการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน
เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย อาติกะ หลังปูเต๊ะ
ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านกาลูบี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านกาลูบี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 27 คน ได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน ตัวแปรตาม ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน จำนวน 5 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 19 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.20-0.80 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.20-1.00 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 และแบบประเมินความพึงพอใจ จำนวน 10 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบ ค่าที (t - test) แบบ Dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ 81.78/82.69 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรม การเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง แรงและความดัน อยู่ในระดับมาก