บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ศน.ศรันย์ ชัยวงษา
หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
การประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์และคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการประเมินดังนี้ 1) เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม (Context) ปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ 2) เพื่อประเมินผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ 3) เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2556 2558 4) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินโครงการ ในด้านผลผลิต ระหว่างก่อนและหลังดำเนินโครงการ 5) เพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการ 6) เพื่อรายงานผลกระทบของโครงการที่มีต่อนักเรียนและครูผู้สอน โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) เป็นรูปแบบและแนวทางในการกำหนดโครงสร้างการประเมินโครงการ ซึ่งประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 100 โรงเรียน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,532 คน จำแนกออกได้ดังนี้ 1) ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 205 คน จากประชากรจำนวน 438 คน 2) ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 306 คน จากประชากรจำนวน 1,510 คน 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 380 คน จากประชากรจำนวน 35,234 คน 4) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 369 คน จากประชากรจำนวน 9,652 คน 5) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 272 คน จากประชากรจำนวน 924 คน ซึ่งสุ่มมาโดยการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางเคร็จซี่; และมอร์แกน และใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลสภาวะแวดล้อมของโครงการ จำนวน 1 ฉบับ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมภายนอก (External Environment) 2) แบบบันทึกข้อมูลปัจจัยนำเข้าของโครงการ จำนวน 1 ฉบับ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยนำเข้า ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมภายใน (Internal Environment) 3) แบบประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์และคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ แบบประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation) และการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) จำนวน 1 ฉบับ และแบบประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) จำนวน 1 ฉบับ และแบบประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) จำนวน 1 ฉบับ และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์และคุณภาพการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจข้อมูล สัมภาษณ์ สอบถามความต้องการและความคิดเห็น และประเมินระดับการดำเนินการ โดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการประเมินการดำเนินโครงการในด้านผลผลิต ระหว่างก่อนและหลังดำเนินโครงการ ด้วยสถิติทดสอบค่าเฉลี่ย (t test) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมินโครงการ
1. ผลการประเมินสภาวะแวดล้อม (Context) ปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมากทุกด้าน ยกเว้นเพียงด้านเดียวที่อยู่ในระดับมากที่สุด คือ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) และด้านที่อยู่ในระดับมากเป็นอันดับสุดท้าย คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input)
2. ผลการประเมินการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ พบว่า ผลรวมการประเมินด้านความพึงพอใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.56 คิดเป็นร้อยละ 91.20 ผลรวมการประเมินด้านความรู้ความเข้าใจ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57 คิดเป็นร้อยละ 91.40 ผลรวมการประเมินด้านการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.64 คิดเป็นร้อยละ 92.80 สรุปว่า ผลการประเมินโดยรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.59 คิดเป็นร้อยละ 91.80
3. ผลการศึกษาความก้าวหน้าของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2556 2558 พบว่า ร้อยละของคะแนนการทดสอบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำกว่าคะแนนระดับประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 2558 โดยคะแนนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีพัฒนาการสูงขึ้นทุกปีการศึกษา ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีพัฒนาการระหว่างปีการศึกษา 2556 2558
4. ผลการเปรียบเทียบผลการประเมินโครงการ ในด้านผลผลิต คือ คุ้มค่าของผลจากการดำเนินโครงการ ประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของครูผู้สอน ประสิทธิภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียน และคุณภาพผู้เรียน ระหว่างก่อนและหลังดำเนินโครงการ พบว่า ผลการประเมินโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณารายผลผลิต พบว่า ผลการประเมินของผู้ประเมินทุกผลผลิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และจากค่าเฉลี่ย พบว่า หลังดำเนินโครงการสูงกว่าก่อนดำเนินโครงการทุกผลผลิต
5. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับมากทุกด้าน
6. ผลกระทบของโครงการที่มีต่อนักเรียนและครูผู้สอนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร สรุปว่า ผลจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ส่งผลให้โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน