ชื่อเรื่อง การวิจัยและพัฒนาบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน ชุด อาเซียน ตามแนวการสอน
ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสารร่วมกับกรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษา
ของสหภาพยุโรป สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางวนิดา ดีแป้น ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านนาแปน
ปีที่ทำวิจัย 2558
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) บทเรียนประกอบภาพการ์ตูน ชุด อาเซียน ตามแนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร (CLT) ร่วมกับกรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษาของสหภาพยุโรป (CEFR) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางในการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนภาษาอังกฤษ เรื่อง อาเซียน 2) สร้างและพัฒนาบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน ชุด อาเซียน 3) ทดลองใช้ และ 4) ประเมินและปรับปรุงบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน มีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางในการพัฒนา ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนาบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน ระยะที่ 3 การทดลองใช้บทเรียนประกอบภาพการ์ตูน และระยะที่ 4 การประเมินและปรับปรุงบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน เก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสานวิธี ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านนาแปน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 2 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบทดสอบ และประเด็นการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน ค่าดัชนีประสิทธิภาพ (E1/E2) ดัชนีประสิทธิผล (E.I.) ค่าสถิติ Dependent Sample T-test และคะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ (Relative Gain Score) ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. สภาพปัญหาของการเรียนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ยังขาดความรู้เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของอาเซียนและประเทศสมาชิก ไม่มีสื่อการเรียนรู้ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของอาเซียนและประเทศสมาชิกโดยเฉพาะเป็นภาษาอังกฤษ หากจะศึกษาด้วยตนเองก็มีข้อจำกัดด้านแหล่งข้อมูลในการสืบค้นทำให้นักเรียนไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนได้ และไม่เห็นความสำคัญของอาเซียนเท่าที่ควร นักเรียนจึงอยากให้ครูรวบรวมข้อมูลสำคัญของอาเซียน แล้วนำมาสอนในห้องเรียนจะได้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะมีคนให้คำแนะนำและช่วยให้ได้ฝึกทักษะทางภาษา ส่วนแนวทางในการพัฒนา พบว่า ควรรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียนที่สำคัญ ที่นักเรียนควรรู้ ทำเนื้อหาให้เข้าใจได้ง่าย มีแบบฝึกหัดทดสอบความเข้าใจ และฝึกทักษะทางภาษา อาจทำเป็นสื่อที่มีภาพประกอบคำบรรยาย จะช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนมากกว่าหนังสือแบบเรียน
2. ผลการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาของบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน พบว่า บทเรียนประกอบภาพการ์ตูนมีความตรงเชิงเนื้อหาทุกเล่ม โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีประสิทธิภาพ โดยรวมเท่ากับ 84.35/83.91 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6862 แสดงว่า บทเรียนประกอบภาพการ์ตูน ช่วยให้นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.62
3. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียนด้วยบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ เรื่อง อาเซียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีคะแนนพัฒนาการอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับสูงมาก
4. ผลการประเมินบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประเมินบทเรียนประกอบภาพการ์ตูนมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ผลการสะท้อนการทดลองใช้บทเรียนประกอบภาพการ์ตูน พบว่า บทเรียนประกอบภาพการ์ตูนมีจุดเด่น คือ เป็นการรวบรวมเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับอาเซียนไว้ โดยใช้ภาพการ์ตูนนำเสนอเนื้อเรื่องด้วยการสนทนาระหว่างตัวละครให้น่าสนใจ สีสันสวยงาม น่าอ่าน ทำให้นักเรียนไม่เครียด ไม่เบื่อภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีแบบทดสอบและแบบฝึกทักษะ คำศัพท์ที่สำคัญช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษาอังกฤษทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ส่วนด้านกายภาพมีขนาดรูปเล่ม ตัวอักษรพอดี เหมาะสม สามารถพกพาไปศึกษาได้ทุกที่ เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาได้ จุดที่ควรพัฒนาของบทเรียนประกอบภาพการ์ตูน คือ ควรเพิ่มความคมชัดของการใช้สีในการพิมพ์ ปรับปรุงปกของหนังสือควรเป็นปกแข็ง เข้าเล่มแบบใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน นอกจากนี้อาจพัฒนาเป็นสื่อในรูปแบบอื่น ได้แก่ สื่อมัลติมีเดียที่มีทั้งภาพและเสียง เช่น การ์ตูนแอนนิเมชั่นหรือบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน