ชื่อรายงาน รายงานการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของ
เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต
ชื่อผู้รายงาน นางสาวดวงเดือน ติยะบุตร
กลุ่มสาระ ระดับปฐมวัย
ปีการศึกษา 2558
ที่ปรึกษา นายมนตรี จิ่มอาษา
ผู้เชี่ยวชาญ 1. นางนิภาวรรณ เดชบุญ
2. นางสาวจุรีรัตน์ แพงวงษ์
3. นายสุริวิจักษณ์ พลีจันทร์
บทคัดย่อ
การรายงานผลการจัดประสบการณ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพเกมการเล่นเชิงคณิตให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่มีต่อการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลบ้านแพง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 จำนวน 34 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการทดลอง 16 สัปดาห์ รูปแบบที่ใช้ในการทดลอง คือ One group Pre-test Post-test Design เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาประกอบด้วย 1) เกมการเล่นเชิงคณิต เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 40 เกม 2) แบบประเมินเชิงสถานการณ์วัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดประสบการณ์เกมการเล่นเชิงคณิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่า ttest แบบ dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการพัฒนาพบว่า
1. การจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต โรงเรียนอนุบาลบ้านแพง พบว่า เกมการเล่นเชิงคณิต ที่
รายงานสร้างขึ้น มีความสอดคล้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.80/81.76 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยก่อนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต เท่ากับ 1.12 และคะแนนเฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต เท่ากับ 8.15 ร้อยละความก้าวหน้าเท่ากับ 40.90 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของคะแนนเต็ม เมื่อนำคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์มาคำนวณค่าประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต มีค่าประสิทธิผลเท่ากับ 0.69 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่น่าพอใจคือ 0.50 ที่กำหนดไว้ และเมื่อเปรียบเทียบผลต่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต โดยใช้ t test แบบ dependent แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่าเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิตมีความพร้อมทางคณิตศาสตร์สูงขึ้น
3. เด็กปฐมวัยมีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ โดยใช้เกมการเล่นเชิงคณิต ทุกด้านในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 2.94, S.D.= 0.15) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่เด็กปฐมวัยมีความพึงพอใจมากเป็นลำดับที่ 1 ได้แก่ ด้านกิจกรรมในการจัดประสบการณ์ ( = 3.00, S.D.= 0.00) รองลงมา ได้แก่ ด้านประโยชน์ ( = 2.94, S.D.= 0.16) และรายการที่เด็กปฐมวัยมีความพึงพอใจมากเป็นลำดับสุดท้าย ได้แก่ ด้านบรรยากาศ ( = 2.93, S.D. = 0.18)
นอกจากนี้ ผู้รายงานยังพบว่า พฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กปฐมวัยปรากฏในระหว่างการเล่นเกม จากการสังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 พอสรุปได้ ดังนี้ 1) การแบ่งกลุ่ม ในระยะเริ่มต้นเด็กจะจัดกลุ่มโดยให้ครูจัดกลุ่มให้ แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมในระยะต่อมาเด็กจะเริ่มจับกลุ่มกันเอง โดยจะขอเข้ากลุ่มกับเด็กที่มีความสามารถในการเล่นเกมเป็นผู้นำ ครูต้องดูแลให้เด็กจัดกลุ่มคละความสามารถ เพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน 2) เด็กบางคนยังไม่สามารถปฏิบัติตามกติกาการเล่นได้ถูกต้อง 3) ในขณะที่เด็กเล่น จะมีการปรึกษากัน พูดคุยถึงการกำหนดบทบาทในการเล่น วิธีการเล่นกันอยู่ตลอดเวลา เช่น ใครจะเป็นผู้นำเกม ทำไมถึงได้นำเกม แบ่งกลุ่มหรือแบ่งข้างกันอย่างไร ใครควรจะอยู่ฝ่ายใด เพราะเหตุใด เล่นอย่างไรจึงจะเป็นผู้ชนะ ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือเพื่อนได้ ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือกลุ่มได้ 4) การจัดประสบการณ์ในการเล่น ไม่ควรมุ่งถึงผลการแพ้หรือชนะ ควรเน้นให้เด็กได้ช่วยเหลือกันในการเล่นคิดแก้ปัญหาในขณะที่เล่น