เรื่อง ผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2
โดยใช้การจัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์
ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ
ผู้วิจัย นางมลวิภา หงษ์ศิริ
ปีการศึกษา 2558
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ ที่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโนนสมบูรณ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้การจัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบนิทานการฝึกสมาธิ จำนวน 50 แผน 2) คู่มือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้การจัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์และกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ จำนวน 50 ครั้ง 3) แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพของเยลเลนและเออร์บัน (Jellen and Urban) สำหรับการทดสอบก่อนการทดลองและหลังการทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ก่อนการทดลองทำกิจกรรมเล่นสร้างสรรค์และศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ นักเรียนที่เป็นกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับต่ำ หลังการทดลองนักเรียนที่เป็นกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับสูงขึ้น
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีความคิดสร้างสรรค์หลังการทำกิจกรรมสูงกว่าก่อนการทำกิจกรรมเล่นสร้างสรรค์และศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
โดยสรุป การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้แก่ การเล่นสร้างสรรค์ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ โดยใช้วัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ประกอบการฝึกสมาธิ เป็นสื่อช่วยกระตุ้นส่งผลให้นักเรียนชั้นอนุบาลมีการพัฒนาโดยมีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น