บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง:ผลการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง เพื่อพัฒนาการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้ศึกษา :นายมัตตัญญู แสงเงินชัย
ปีการศึกษา :2556
สถานศึกษา :โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๔๘ (บ้านทุ่งโป่ง) อำเภอบ้านโฮ่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2
ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพหนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียน จากการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรองที่สร้างขึ้น และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๔๘ (บ้านทุ่งโป่ง) อำเภอบ้านโฮ่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง จำนวน 16 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ
หนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 32 แผน ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติ ได้แก่ การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พร้อมกับนำเสนอข้อมูลโดยใช้ตารางประกอบการบรรยายด้วยความเรียง
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 16 เล่ม มีประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับเฉลี่ยร้อยละ 83.18/83.33 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนหลังการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง ได้คะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบก่อนเรียน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน คะแนนเฉลี่ยทดสอบก่อนเรียนได้เท่ากับ 12.23 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 40.77 คะแนนเฉลี่ยทดสอบหลังเรียนได้เท่ากับ 25.00 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 83.33 และคะแนนความก้าวหน้าได้เท่ากับ 12.77 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 42.56
3. การศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสือส่งเสริมการอ่านนิทานร้อยกรอง จำนวนนักเรียน 13 คน จากการตอบแบบสอบถาม จำนวน 10 รายการ พบว่านักเรียนมีระดับความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.96, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.15)