ชื่อเรื่อง รายงานการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง มาตราตัวสะกด
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษา นางสาวดารุณี บุญวิเศษ
ปีที่พิมพ์ 2559
บทคัดย่อ
การใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 3 เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่สามารถพัฒนาผู้เรียน ให้มีความรู้
ความเข้าใจสามารถอ่านและสะกดคำ ในมาตราตัวสะกดทั้ง 8 แม่รวมทั้งมาตราแม่ ก กา ที่ไม่มี
ตัวสะกด อ่านเรื่องสั้น ๆ แล้วตอบคำถามได้ เขียนคำและแต่งประโยค ตามที่กำหนดให้ได้ เพื่อเป็น
พื้นฐานการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารให้
ถูกต้อง การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาค่าดัชนี
ประสิทธิผลของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 3 ที่มีต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนเรื่อง มาตราตัวสะกด
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านถ่อนใหญ่ถ่อนน้อย
อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2558 จำนวน 16 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มี 3 ชนิด ได้แก่ 1) แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 10 เล่ม 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบปรนัยและอัตนัย จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยาก (P)
ระหว่าง 0.56 ถึง 0.75 อำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ 0.23 ถึง 0.66 ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91
3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยแบบฝึก
เสริมทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง มาตราตัวสะกด เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ
จำนวน 15 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ( ) ตั้งแต่ 0.30 ถึง 0.70 และมีค่าความเชื่อมั่น 0.90 สถิติที่ใช้ใน
การวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมุติฐานโดยใช้
ค่า t-test
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.76/91.72 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เท่ากับ 0.88 ซึ่งหมายความว่า นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ร้อยละ 88
3. มีค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
เรื่อง มาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสม ช่วยพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ การอ่านและสะกดคำ การอ่านจับใจความ การเขียนคำ และแต่งประโยคจากคำ จากภาพในมาตราตัวสะกดทั้ง 8 แม่รวมทั้งมาตราแม่ ก กา ได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นและเรียนรู้กับวิชาอื่น เพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายของหลักสูตร