ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชุด มาตราตัวสะกด
ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านเขาวัง
ผู้รายงาน นางอารยา อุทัยรังษี
ตำแหน่ง ครู อันดับ คศ. 2 วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สังกัด โรงเรียนบ้านเกาะจัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีที่พิมพ์ 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชุด มาตราตัวสะกด ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด 3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของ แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชุด มาตราตัวสะกด ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียน
บ้านเขาวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2 จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ 1) แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด จำนวน 9 เล่ม 2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด จำนวน 18 แผน 3) แบบทดสอบย่อยหลังเรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 9 เล่ม เล่มละ 10 ข้อ รวมจำนวนแบบทดสอบย่อย 90 ข้อ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจำนวน 3 ตอนประกอบด้วย ข้อสอบปรนัยแบบ 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ แบบทดสอบการเขียนคำศัพท์ จำนวน 10 ข้อ และแบบทดสอบการอ่านคำศัพท์ จำนวน 10 ข้อ รวมทั้งหมด 50 ข้อ 5) แบบวัดความพึงพอใจที่มีต่อแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชุด มาตราตัวสะกด เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคิร์ท (Likert) ชนิด 5 ระดับจำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่าแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชุด มาตราตัวสะกด โดยรวมมีประสิทธิภาพเท่ากับ 88.04/81.79 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80 นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น มีค่าเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7683 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.83 เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียน ชุด มาตราตัวสะกด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54 อยู่ในระดับมากที่สุด