ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย นางปัทมา ใยบัวทอง
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านตาหงษ์ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านตาหงษ์ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 จำนวน 16 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นประกอบด้วย แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 6 เล่ม ประกอบด้วย เล่มที่ 1 พื้นฐานการอ่าน เล่มที่ 2 การอ่านจับใจความจากนิทาน เล่มที่ 3 การอ่านจับใจความจากสำนวน สุภาษิต และคำพังเพย เล่มที่ 4 การอ่านจับใจความจากบทความ เล่มที่ 5 การอ่านจับใจความจากข่าว และ เล่มที่ 6 การอ่านจับใจความจากบทร้อยกรอง แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 32 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 17 รายการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติหาคุณภาพของเครื่องมือ ได้แก่ การหาค่าความเหมาะสมของบทเรียนสำเร็จรูป ค่าความตรงเชิงเนื้อหาของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทัษะการอ่านจับใจความ โดยหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) หาค่าความยากและอำนาจจำแนกของแบบทดสอบ หาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ โดยใช้ KR - 20 หาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามความพึงพอใจตามสูตร อัลฟาของครอนบาค สถิติหาคุณภาพนวัตกรรม ใช้ E1/E2 หาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. การสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.29/84.38
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในระดับมากที่สุด ระดับความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 4.82