ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย นางสาวนวลจันทร์ เสมาขันธ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ ( วัดทองพุ่มพวง ) สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลเมืองสระบุรี
จังหวัดสระบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ( Research & Development ) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษา และกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น แนวคิดการพัฒนาหลักสูตรนักการศึกษาต่างๆ ได้แก่ ไทเลอร์, ทาบา, โอลิวา สกิลเบ็ก, กองงานพัฒนาหลักสูตร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทฤษฎีการมีส่วนร่วมของชุมชนและแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่ การศึกษาความต้องการของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 30 คน ผู้ปกครองนักเรียน ประธานชุมชนประชาชนในชุมชน และศึกษาความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานในขั้นตอนที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้อง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 3 และ 4 ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดทองพุ่มพวง ) จำนวน 28 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม ( Cluster Random Sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดการสัมผัสด้านสถานที่ 4) แบบทดสอบวัดการรู้สิ่งแวดล้อม 5) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม และ 6) แบบสอบถามคามคิดเห็นของประชาชนในชุมชนที่มีต่อรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณและการวิเคราะห์เนื้อหา ( content analysis ) สถิติที่ใช้ ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าที ( t-test dependent )
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมสร้างการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า มีจุดเน้นการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงสภาพและความต้องการของสังคมและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและกรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเน้นการพัฒนา การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยนำสาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจในสิ่งแวดล้อมและเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติกำหนดเป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม และจากความคิดเห็นของนักเรียนก็มีความต้องการให้จัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยเฉพาะด้านขยะมูลฝอย ประกอบกับความคิดเห็นของประธานชุมชน ประชาชนและครูผู้สอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน คือ ให้มีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเน้นส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และจากการศึกษาแนวคิดรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมของนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน และทฤษฎีการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา แนวคิดการศึกษาอิงสถานที่ ทำให้มีข้อมูลเพียงพอและสอดคล้องในการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ข้อที่ 1
2. ผลการพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม LBBBE Model ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการพัฒนา 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 สำรวจท้องถิ่น ( Local Survey:L ) ขั้นที่ 2 ระดมความคิดคิด ( Brainstorming: B ) ขั้นที่ 3 สร้างและพัฒนา (Building and Development: E ) ขั้นที่ 4 นำไปทดลองใช้ ( Bring to trial:B ) เป็นการนำหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมไปใช้เป็นกรอบในการจัดการเรียนรู้ และขั้นที่ 5 ประเมินผล ( Evaluation and Improvement:E ) มีความเหมาะสม/สอดคล้องตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับดีมาก โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.66 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.15 และจากการหาประสิทธิภาพโดยนำไปทดลองใช้เป็นกรอบในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า มีประสิทธิภาพ ( E1/E2 ) เท่ากับ 85.81/88.75 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า จากการนำรูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมไปใช้เป็นกรอบในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาอิงสถานที่ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดทองพุ่มพวง ) จำนวน 28 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม ( Cluster Random Sampling ) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม ( Sampling Unit ) หลังการจัดการเรียนรู้มีผลการประเมินดังนี้ 1) ด้านสัมผัสสถานที่ ดังนี้ ด้านความหมายของสถานที่มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 30.68 และคะแนนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.19 ด้านความผูกพันกับสถานที่มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 51.32 และคะแนนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.28 2) ด้านการรู้สิ่งแวดล้อม ดังนี้ ด้านความรู้สิ่งแวดล้อมมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 16.82 และคะแนนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.02 ด้านเจตคติสิ่งแวดล้อม พบว่า หลังการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการเรียนรู้ และอยู่ในระดับมาก และด้านพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 4.51 และคะแนนส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.34 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ข้อที่ 3
4. ผลการประเมินการใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 6 พบว่า หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมเป็นกรอบ นักเรียนมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในด้าน 1) ด้านสัมผัสสถานที่ ดังนี้ ด้านความหมายของสถานที่สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 20.977 ด้านความผูกพันกับสถานที่สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 25.661 2) ด้านการรู้สิ่งแวดล้อม ดังนี้ ด้านความรู้สิ่งแวดล้อมสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 24.315 ด้านเจตคติสิ่งแวดล้อม สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 4.197 , 6.870 , 25.746 , 22.895, 28.776, 26.274 และ 19.385 ตามลำดับ และและด้านพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 27.889 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 4