ชื่องานวิจัย รายงานการประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียนบ้านทุ่งขาม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 ผู้รายงานนางฝนทิพย์ แพทเทอสัน ปีการศึกษา2557
บทคัดย่อ
ปัจจุบันความก้าวไกลทางเทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การแข่งขัน การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสังคม ทำให้ คุณธรรมจริยธรรม อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคมลดลงไปซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิดปัญหาต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ในชุมชน สังคมและประเทศชาติได้
โรงเรียนบ้านทุ่งขาม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 จึงตระหนักถึงการพัฒนาคนโดยใช้คุณธรรมและจริยธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับนักเรียน สถาบันครอบครัว ชุมชน และบุคลากรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่ความสงบสุขของชุมชน สังคมและประเทศชาติได้ ซึ่งทางโรงเรียนบ้านทุ่งขามได้จัดทำโครงการต่างๆเพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียนตามโอกาสที่เหมาะสมอยู่เสมอ
ดังนั้นผู้เขียนจึงได้จัดทำการประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียนบ้านทุ่งขาม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ของโรงเรียนบ้านทุ่งขาม ใน 4 ด้าน คือ 1) การด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น 3) ด้านกระบวนการ และ 4) ด้านผลผลิต ตามกรอบแนวคิดของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน
กลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเพื่อประเมิณผ่านแบบสอบถาม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชนของโรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 29 คน 2) ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 83 คน และ 3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 โรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 83 คน รวมทั้งหมด 195 คน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้เป็นแบบสอบถามประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมของโรงเรียนบ้านทุ่ง โดยแบ่งแบบสอบถามออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียน บ้านทุ่งขาม อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ได้แก่ เห็นด้วยมากที่สุด เห็นด้วยมาก เห็นด้วยปานกลาง เห็นด้วยน้อย และเห็นด้วยน้อยที่สุด
สถิติที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า
แบ่งตามกลุ่มผู้ประเมิณ ได้ 3 กลุ่มดังนี้
1. ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชนของโรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 29 คน
1.1 ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมาก
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
1.3 ด้านกระบวนการ พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
1.4 ด้านผลผลิต พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
2 ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 83 คน
2.1 ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
2.3 ด้านกระบวนการ พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
2.4 ด้านผลผลิต พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
3 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 โรงเรียนบ้านทุ่งขาม จำนวน 83 คน
3.1 ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมาก
3.2 ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
3.3 ด้านกระบวนการ พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมากที่สุด
3.4 ด้านผลผลิต พบว่าโดยรวมมีความเห็นด้วยมาก