ชื่อเรื่อง รายงานการวิจัยผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานในการปลูก
ผักกาดหอมในระบบการปลูกพืชไร้ดินโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้
และสูตรกุยบุรีวิทยา
ผู้วิจัย นางสาวพัชรี คล้ำจิต
บทคัดย่อ
การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันนี้มุ่งเน้นให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เน้นให้เกิดทักษะทั้งด้านการเรียนรู้ และความสามารถในการปฏิบัติ แต่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บางอย่างยังไม่เอื้อให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะทักษะการปฏิบัติด้านอาชีพ ที่นักเรียนต้องนำติดตัวไปใช้ในอนาคต การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาเปรียบเทียบสูตรสารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสูตรกุยบุรีวิทยาที่มีต่อการเจริญเติบโตของผักกาดหอม ที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ (2) ศึกษาต้นทุนสูตรสารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสูตร กุยบุรีวิทยาในการปลูกผักกาดหอม (3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน (4) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน (5) ศึกษาผลการประเมินผลงานการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนวิชาการปลูกพืช ไร้ดิน รหัสวิชา ง30293 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนกุยบุรีวิทยา อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 20 คน ซึ่งได้เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Selective Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ (1) แบบบันทึกการเจริญเติบโตของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้ (2) แบบบันทึกการเจริญเติบโตของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรกุยบุรีวิทยา (3) แบบบันทึกค่า EC ของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้ (4) แบบบันทึกค่า EC ของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรกุยบุรีวิทยา (5) แบบบันทึกค่า pH ของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้ (6) แบบบันทึกค่า pH ของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรกุยบุรีวิทยา (7) แบบบันทึกอุณหภูมิภายในโรงเรือน (8) แบบบันทึกต้นทุนการปลูกที่ใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสูตรกุยบุรีวิทยา (9) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน วิชาการปลูกพืชไร้ดิน รหัสวิชา ง30293 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 20 ข้อ (10) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาการปลูกพืชไร้ดิน รหัสวิชา ง30293 ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ (11) แบบประเมินผลงานการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t test ค่าความเที่ยงตรง ค่าความยาก ง่าย ค่าอำนาจการจำแนก และค่าความเชื่อมั่น
ผลการวิจัย พบว่า
1. การเจริญเติบโตของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสูตรกุยบุรีวิทยา มีการเจริญเติบโตที่ไม่แตกต่างกันทางสถิตที่ระดับความเชื่อมั่น .05
2. ต้นทุนการปลูกผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสารละลายสูตรกุยบุรีวิทยานั้น สูตรกุยบุรีวิทยามีต้นทุนการปลูกต่ำกว่า
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานคิดเฉลี่ยเป็นระดับคุณภาพเท่ากับ 4.79 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ระดับมากที่สุดทุกประเด็น
4 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน นักเรียนมีคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์หลังเรียน ได้คะแนนเฉลี่ย 33.10 คิดเป็นร้อยละ82.75 ของคะแนนเต็ม
5. การประเมินผลงานการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานของนักเรียนค่าเฉลี่ยโดยรวมเท่ากับ 4.71 คิดเป็นร้อยละ 94.25 ของคะแนนเต็ม เมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมิน มีคุณภาพระดับมากที่สุด
โดยสรุปการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและต้นทุนของผักกาดหอมที่ปลูกโดยใช้สารละลายธาตุอาหารสูตรเวสโก้และสูตร กุยบุรีวิทยา ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ในการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น และสามารถปฏิบัติงานได้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพจริงได้ในอนาคต และเป็นแนวทางสำหรับครูหรือผู้สนใจที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ