การพัฒนาสื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม รายวิชาเคมีเพิ่มเติม 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางสาวขัติญา เปรมปราโมทย์
สถานศึกษา โรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพ หาดัชนีประสิทธิผล เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ศึกษาความคงทนในการเรียนรู้ และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อสื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม รายวิชาเคมีเพิ่มเติม 4 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2558 จำนวน 23 คน ผู้วิจัยเลือกนักเรียนกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบเป็นกลุ่ม (Cluster sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling unit) ที่จับสลากมาหนึ่งห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ สื่อประสม ประกอบด้วย แบบฝึกทักษะ จำนวน 9 ชุด หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E Book) 9 เรื่อง เวลาเรียน 18 ชั่วโมง แบบทดสอบย่อย ชุดละ 10 ข้อ แบบทดสอบประจำบท 40 ข้อ แบบสอบถามความพึงพอใจ 20 ข้อ แผนการจัดการเรียนรู้ 9 แผน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t test ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. สื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.53/83.59 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. สื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 72.87 ตรงตามเกณฑ์ 70 หรืออยู่ในระดับดี แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 72.87
3. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ในอุตสาหกรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมเฉลี่ยทั้ง 9 ชุด หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความคงทนในการเรียนรู้ด้วยสื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ในอุตสาหกรรม โดยมีคะแนนหลังเรียน 2 สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 0.43
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อสื่อประสม เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก