การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน
2) เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน
3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน
4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย
1) ผู้ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 คน ด้วยวิธีการแบบเจาะจง (Purposive sampling) เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาปัจจุบันในการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน และแนวทางในการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนในโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
2) ผู้ให้ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ครูปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 54 คน ด้วยวิธีการแบบเจาะจง (Purposive sampling) เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเมินผลแนวทางในการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน และความคิดเห็นทีมีต่อแนวทางการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พร้อมทั้งประเมินผลแนวทางในการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัญหาการวิจัยในชั้นเรียนที่ผ่านมา โดยมากครูคิดว่าการวิจัยในชั้นเรียนเป็นเรื่องยุ่งยาก ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่มีทักษะในการทำงานวิจัยในชั้นเรียน ไม่เข้าใจกระบวนการวิจัย สิ่งใดควรทำก่อน และสิ่งใดควรทำทีหลัง ไม่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการแก้ปัญหาด้านการเรียนการสอนที่สำเร็จอย่างเป็นระบบ ผลการวิจัยจึงเป็นสิ่งที่ยังเชื่อถือไม่ได้ ทำให้ครูไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพให้กับนักเรียน ต่างจากปัจจุบันครูเริ่มสนใจค้นคว้างานวิจัยมากขึ้นเพราะครูส่วนใหญ่ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท จึงต้องใช้กระบวนการวิจัยแต่ภาระงานมากทั้งจากจะจัดการเรียนการสอนที่มีจำนวนทำการสอนมาก ยังต้องจัดกิจกรรมตามนโยบายของต้นสังกัด ทำให้มีเวลาจำกัดที่จะทำงานวิจัยในชั้นเรียน ถึงแม้จะมีครูบางส่วนที่ทำวิจัยในชั้นเรียนแต่ก็ยังเขียนรายงานหัวข้องานวิจัยไม่สมบูรณ์ การรวบรวมข้อมูล และใช้สถิติเพื่อรายงานผลการวิจัยยังไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย และไม่มีการเผยแพร่ในเวทีที่เป็นการยอมรับกันของนักวิชาการทั่วไป เป็นเพียงนำเสนองานวิจัยให้กับเพื่อนครูในโรงเรียนได้ช่วยวิพากษ์วิจารณ์และปรับปรุงแก้ไข และทำวิจัยในชั้นเรียนส่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
2. แนวทางในการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนด้านการวางแผนของครูผู้สอน โดยภาพรวมระดับปานกลาง คือ 1) ผู้วิจัยต้องช่วยให้ผู้ร่วมวิจัยสามารถจำแนกแยกแยะปรากฏการณ์ และทำนายปรากฏการณ์ของปัญหาที่จะเกิดขึ้น 2) ผู้วิจัยจะต้องนำเอาแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการนำเสนอชี้แจงต่อผู้ร่วมวิจัย และ 3) ผู้วิจัยควรทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่ผู้ร่วมวิจัย
3. แนวทางในการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนด้านการปฏิบัติ โดยภาพรวมระดับมากที่สุด คือ 1) ผู้วิจัยควรให้ผู้ร่วมวิจัยมีส่วนร่วมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้ 2) ผู้วิจัยควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ตามหลักการ โดยมุ่งการเปลี่ยนแปลงและเกิดการกระทำเพื่อบรรลุเป้าหมายในทางปฏิบัติ และ 3) ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยควรมีการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ
4. แนวทางในการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนด้านการสังเกตผล โดยภาพรวมระดับมาก คือ 1) ผู้วิจัยควรเน้นบทบาทและส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีส่วนร่วมให้มีการสังเกตผลที่เกิดขึ้นจริง 2) ผู้วิจัยและผู้มีส่วนร่วมควรคาดหวังผลสำเร็จของการปฏิบัติงานที่จะเกิดขึ้น และ 3) ผู้วิจัยและผู้มีส่วนร่วมควรสังเกตว่า กิจกรรมหรือกระบวนการปฏิบัติงานเป็นอย่างไร ได้ความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่ หรือเกิดการเรียนรู้ใหม่อะไรบ้าง
5. แนวทางในการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนด้านการสะท้อนผล โดยภาพรวมระดับมาก คือ 1) ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยควรสรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการ การปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการ การสังเกตผลที่เกิดขึ้นจริง และผลการเปลี่ยนแปลงทั้งที่สำเร็จและ ยังไม่สำเร็จ 2) ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยควรวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ทำสำเร็จ สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ สิ่งที่เป็นปัจจัยผลักดัน และสิ่งที่เป็นปัจจัยต่อต้านการดำเนินงานวิจัย และ 3) ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยควรแสดงถึงผลการวิจัย (ผลทีเกิดขึ้น) ได้ว่าเป็นสิ่งที่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
6. ภายหลังการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน พบว่า 1) ครูผู้สอนร่วมลงมือปฏิบัติการตามกระบวนการวิจัยและแผนการวิจัยที่กำหนดไว้ ในการร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นในวิธีการลงมือปฏิบัติการและวิธีการวัดความสำเร็จของการวิจัย รวบรวมข้อมูล สนับสนุน ประสานงานและอำนวยความสะดวก รับฟังปัญหาและความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อลดข้อผิดพลาด ลดการสูญเสีย ลดความไม่ยุติธรรมหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงพอใจ อันจะนำผลไปสรุปที่มีประโยชน์แก่ทุกคนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะครูที่เข้าร่วมกิจกรรมมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลความเป็นจริง แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม มีความพอดีกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น 2) ครูผู้สอนร่วมประชุมปรึกษาหารือถึงวิธีการการสังเกตผลจากการปฏิบัติการ สังเกตปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งที่คาดหวังและไม่ได้คาดหวัง ทั้งทางบวกและทางลบ ร่วมอธิบายตีความปรากฏการณ์ด้านต่างๆ จากกิจกรรมหรือกระบวนการการปฏิบัติงาน ร่วมกันปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การสังเกตการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม และสามารถประเมินประสิทธิภาพและความสำเร็จของการปฏิบัติด้วยตนเอง 3) ครูผู้สอนสามารถเล่าเหตุการณ์เรื่องราวทั้งหมดในการปฏิบัติการของการวิจัยในชั้นเรียนอย่างมีเหตุผล ซึ่งแต่ละคนจะมีมิติการมองเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน ที่นำไปสู่การมองปัญหาการวิจัยที่รอบด้าน สามารถเข้าใจความรู้สึกจากการลงมือปฏิบัติการทั้งความเครียด ความรู้สึกท้อถอย ความผิดหวังจากผลที่คาดไว้และพึงพอใจจากการปฏิบัติการ จัดทำรายงานเพื่อสรุปการปฏิบัติการอย่างตรงไปตรงมา ที่สะท้อนถึงแนวคิดทฤษฏีที่นำมาใช้ และสามารถอธิบายให้ผู้ร่วมวิจัยรับรู้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความรู้ใหม่อย่างถูกต้องตามกระบวนการวิจัย และสามารถให้ข้อมูลของการสะท้อนผลที่มีความเที่ยงตรงทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
7. ครูในโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีความคิดเห็นต่อประโยชน์ของการส่งเสริมความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียนของครูผู้สอนในสถานศึกษา สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยภาพรวมระดับมาก ได้แก่ 1) กิจกรรมการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ประจำได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระที่ยุ่งยาก 2) กิจกรรมการวิจัยในชั้นเรียน ครูผู้วิจัยและครูผู้ร่วมวิจัย สามารถช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการศึกษาของครูผู้สอน และ 3) กิจกรรมการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยในชั้นเรียน มีส่วนช่วยให้บุคลากรภายในโรงเรียนมีความมั่นใจในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ตามลำดับ