การวิจัยครั้งนี้เพื่อ
1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพปัญหา ทางเลือกเพื่อการปฏิบัติ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการนำทางเลือกไปปฏิบัติ ที่ใช้หลักการบูรณาการเป็นตัวสอดแทรกและใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการ
2) เพื่อศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการนำเอาหลักการบูรณาการมาเป็นตัวสอดแทรกเพื่อพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี
ประชากรกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
1) ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน
เพื่อให้ความเห็นถึงความสอดคล้องของการพัฒนางานวิชาการด้วยหลักการบูรณาการวิจัยเชิงปฏิบัติการของครูผู้สอนในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัด ปทุมธานี ด้วยวิธีการแบบเจาะจง (Purposive sampling)
2) ผู้บริหารและครูปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 56 คน เพื่อให้ความคิดเห็นทีมีต่อการพัฒนางานวิชาการโดยใช้หลักการบูรณาการของโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี สังกัดเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพของโรงเรียนด้านบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และมีชุมชนเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ส่วนงานวิชาการผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนให้ความสำคัญในด้านการเรียนการสอนเป็นประเด็นหลัก รองลงมาคือ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และการพัฒนาหลักสูตร ตามลำดับ
2. สภาพปัญหาด้านวิชาการของโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี ได้แก่ ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เด็กขาดทักษะการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ ครูขาดทักษะการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษามีการพัฒนาน้อย หรือปัญหาครูมีภารกิจอื่นไม่ได้สอนอย่างเต็มที่ โรงเรียนจัดโครงสร้างบทบาทหน้าที่ของครู หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องไม่ชัดเจนเกิดความสับสนในการปฏิบัติงานไม่มีการกระจายภาระงานทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน
3. สภาพงานวิชาการปัจจุบันของโรงเรียนมีการดำเนินการจัดด้านการเรียนการสอนเป็นประเด็นหลัก มีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การพัฒนาหลักสูตร และการประกันคุณภาพภายในและภายนอกโรงเรียน ตามลำดับ
4. การพัฒนางานวิชาการด้วยหลักการบูรณาการ ทำให้ครูโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี มีความเข้าใจในหลักการบูรณาการ มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยการบูรณาการสาระวิชาต่างๆ ที่มีหัวข้อเดียวกัน มีการจัดกิจกรรม/โครงการเพื่อส่งเสริมงานวิชาการ และพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบครบวงจร ในการพัฒนางานวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน