ชื่อเรื่อง การใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา)
ชื่อผู้วิจัย นางผกาพันธุ์ วีระสิงห์
โรงเรียน โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษากระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ2) ศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) หลังการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และ3) เพื่อประเมินผลการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 3 คน ศึกษานิเทศก์สังกัดสำนักการศึกษาเมืองพัทยา จำนวน 3 คน และครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) จำนวน 67 คน รวมทั้งหมด 73 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .945 แบบตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .892 และแบบประเมินการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) มีค่าคามเชื่อมั่นเท่ากับ .938 มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) ตามแบบลิเคิร์ท มี 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) และวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษากระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมดังนี้
1.1 ครูศึกษาเอกสารประกอบการอบรม Coaching and Mentoring และเอกสารกระบวนการพี่เลี้ยงพัฒนาครูไทย ในหนังสือ รู้เนื้อหาก่อนสอนเก่ง และ VCD ประกอบการเรียนรู้ Coaching and Mentoring
1.2 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนถ่ายทอดประสบการณ์จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ Coaching and Mentoring ให้กับเพื่อนครูในกลุ่ม
1.3 ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจับคู่ตามบทบาท ได้แก่ ผู้วางแผน (Planer) และผู้ร่วมคิด (Co-teacher/buddy) เป็นลักษณะของการทำงานของกลุ่มครูที่ร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบร่วมมือ รวมพลังอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาการจัดการเรียนการสอน พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยดำเนินงานตามขั้นตอนของกระบวนการศึกษาผ่านบทเรียน (Lesson study) ประกอบด้วย1)วิเคราะห์หลักสูตร/รายวิชาที่จัดการเรียนรู้ (Analyze : A) 2) วางแผนการจัดการเรียนการสอน (Plan : P) 3) สอนและสังเกต (DO : D and See : S) 4) สะท้อนความคิด (Reflection) และ 5) ปรับปรุงแก้ไขบทเรียน (Redesign)
1.4 รายงานการศึกษาผ่านบทเรียนโดยกลุ่มร่วมกันจัดทำเอกสารเผยแพร่ผลการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย แผนจัดการเรียนรู้ที่ผ่านการทดลอง คำอธิบาย และผลการศึกษาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูคนอื่นๆ ต่อไป
2. ผลการศึกษาความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) หลังการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
2.1 การตรวจสอบการจัดการเรียนการสอนของครู พบว่า ในภาพรวมครูมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก อันดับแรก ได้แก่ ให้นักเรียนได้สะท้อนผลการเรียนรู้ รองลงมา นำเทคนิคและนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ นำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน ใช้โครงงานในการกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน นำข้อเสนอแนะจากผู้บริหารและเพื่อนครูมาปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน ตามลำดับ โดยทำงานร่วมกับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น มีค่าเฉลี่ยเป็นลำดับสุดท้าย
2.2 การประเมินความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) ภาพรวม พบว่า ครูมีความสามารถอยู่ในระดับมาก อันดับแรก ด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอน รองลงมา ด้านการเขียนแผนกิจกรรมการเรียนรู้ และความสามารถในการทำงานแบบร่วมมือรวมพลัง ตามลำดับ โดยทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยเป็นอันดับสุดท้าย
3. ผลการประเมินการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) พบว่า ครูมีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า อันดับแรก ควรจัดกระบวนการลักษณะนี้ต่อเนื่องทุกปี รองลงมา กระบวนการนี้ช่วยพัฒนานักเรียนได้อย่างแท้จริง และกระบวนการนี้ช่วยให้ครูทำวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น ตามลำดับ โดยความชัดเจนในการให้คำปรึกษา/ความช่วยเหลือของอาจารย์นิเทศมีค่าเฉลี่ยเป็นอันดับสุดท้าย
4. ผลการประชุมสนทนากลุ่มมีข้อสังเกตดังนี้
4.1 การกำหนดเป้าหมายและวางแผนการสอน เป็นการกำหนดเป้าหมายของการศึกษาที่กลุ่มศึกษาบทเรียนให้ความสนใจร่วมกัน ควรให้สอดคล้องกับปัญหาหรือสภาพการจัดการเรียนการสอนจริงในชั้นเรียน เป็นไปเพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน ครูแต่ละคนจะต้องออกแบบและสร้างแผนการสอนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างต้น โดยอาจสร้างแผนการสอนใหม่ หรือแผนการสอนที่มีอยู่เดิม รวมถึงการจัดเตรียมสื่อการสอน แผนการสอนส่วนใหญ่ควรเป็นแผนรายคาบที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้ตั้งคำถาม เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความคิดที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝึกให้ผู้เรียนช่างสังเกตเกิดความสงสัยระหว่างการเรียนรู้ พร้อมทั้งฝึกการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ ที่จะช่วยขุดประกาย และกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ 2) การเรียนรู้เพื่อแสวงหาสารสนเทศ เป็นการสืบค้น สอบถาม สัมภาษณ์ ทดลอง ทดสอบ รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งบุคคล แหล่งเรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต ห้องสมุด เอกสารตำรา เพื่อให้นักเรียนนำข้อมูล และสารสนเทศมากลั่นกรองและคัดสรรในส่วนที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ 3) การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้ ควรส่งเสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจในการสรุปเหตุผล ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการที่หลากหลาย ทั้งอุปนัยและนิรมัย มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ให้ได้ข้อยุติและเกิดการยอมรับในความคิดที่แตกต่าง 4) การเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร เป็นการส่งเสริมทักษะด้านภาษาพูด ภาษาเขียน การนำเสนอแก่นักเรียน ทั้งยังเน้นพัฒนาเทคนิค ศิลปะ และวิธีการนำเสนอ ครอบคลุมการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ 5) การเรียนรู้เพื่อตอบแทนสังคม ควรเน้นจุดมุ่งหมายสูงสุดที่ต้องการสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้นักเรียน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เกื้อกูลกัน ตลอดจนมีจิตสาธารณะ
4.2 การปฏิบัติการสอนและการสังเกต เป็นขั้นตอนของการนำแผนการสอนที่พัฒนาโดยคู่เพื่อนสนิท นำไปใช้จริงในชั้นเรียน โดยครูผู้ออกแบบแผนการสอน และมีเพื่อนสนิทเข้าไปสังเกตการณ์การสอน ช่วยเก็บข้อมูลในการดำเนินการเรียนการสอน ทั้งการจดบันทึก การบันทึกภาพหรือวีดิทัศน์ บางครั้งนอกจากคู่เพื่อนสนิทแล้ว กลุ่มศึกษาบทเรียนคนอื่นๆ ยังสามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การสอนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนมากในสังเกตการณ์การสอน กลุ่มศึกษาบทเรียนมักจะประจำอยู่หลังห้อง เพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย โดยมีประเด็นการสังเกตดังนี้
1) ด้านนักเรียน เป็นการสังเกตปฏิกิริยา การแสดงออก การตอบสนอง พฤติกรรมของนักเรียนที่แสดง ตลอดคาบเรียน ตลอดจน สังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคลที่มีความโดดเด่นทั้งด้านบวกและด้านลบ
2) ด้านการจัดการเรียนการสอน อันได้แก่ ลักษณะ ความเหมาะสม ขั้นตอน ประสิทธิภาพ เทคนิคในคาบเรียน ทั้งที่ส่งเสริมและเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียน ตลอดจนการบริหารชั้นเรียน ปฏิสัมพันธ์ของครูและนักเรียน ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
3) ด้านครู เป็นการสังเกตปฏิกิริยาการตอบสนองของครู การตั้งคำถาม การลำดับ การอธิบายที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน
4) ด้านสื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้ เป็นการสังเกตความเหมาะสม สอดคล้องความถูกต้อง ครอบคลุม ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
5) ด้านบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นการสังเกตบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน
4.3 การอภิปรายผลและการสะท้อนกลับ เป็นการอภิปรายผลของการปฏิบัติการสอน โดยกลุ่มการศึกษาบทเรียนที่เข้าสังเกตการณ์การสอน เป็นไปเพื่อร่วมกันปรับปรุงแผนการสอนและนำไปปฏิบัติการสอนในครั้งต่อๆ ไป โดยทุกคนที่สังเกตการณ์การสอนจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เป็นไปในลักษณะการอภิปรายทีละคน ทีละประเด็น ในขั้นต้นจะสรุปประสิทธิภาพของการสอน สภาพที่เกิดขึ้น จุดเด่น และจุดด้อย และช่วยกันอภิปรายถึงแนวทางการปรับปรุงแผนการสอนและนำสู่การปฏิบัติการเรียนการสอน แผนการสอนที่ถูกพัฒนาในการเรียนการสอน แผนดังกล่าวนี้พร้อมที่จะนำไปใช้ในชั้นเรียนอื่นๆ ต่อไป
4.4 กลยุทธ์การใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) การสนับสนุนให้ครูเริ่มต้นดำเนินงานตามกระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) ที่มีองค์ประกอบของการทำงานแบบร่วมมือรวมพลังและลักษณะของการดำเนินงานที่เป็นระบบในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูไม่คุ้นเคย ถือเป็นเรื่องยากที่สุดในการดำเนินงานนี้ ในฐานะผู้วิจัยซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการใช้กระบวนการฯ ควรใช้การเริ่มต้นด้วยกลยุทธ์ เพิ่ม และกลยุทธ์ ลดดังนี้
กลยุทธ์เพิ่ม คือ การเพิ่มแรงจูงใจ สร้างความตระหนัก และสร้างความรู้สึกในทางบวกหรือสร้างเจตคติที่ดีของครูต่อการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งทำได้โดยการมีแกนนำที่เป็นที่ยอมรับในการแนะนำและขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว หรือการเริ่มต้นกระบวนการจากระดับฐานราก ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ครูเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยมีการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาอย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและทรัพยากร ส่วนกลยุทธ์ลด คือ การลดความกังวลใจและภาระงานของครู โดยการลดภาระงานในการดำเนินงานตามกระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ในระยะแรกเพื่อสร้างความรู้สึกแก่ครูว่าเป็นการทำงานตามปกติ ไม่มีภาระงานใหม่เพิ่มขึ้นมา โดยอาจเริ่มต้นดำเนินงานจากการพัฒนาแผนการสอนจากแผนการสอนเดิมที่มีอยู่ ไม่ต้องเริ่มต้นเขียนแผนการสอนใหม่ รวมทั้งอาจลดความกังวลจากการมีส่วนร่วมของผู้รู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยจัดให้มีเฉพาะครูในกลุ่มที่ทำงานร่วมกันหรือมีผู้รู้จากภายในโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตหรืออภิปรายก่อน เมื่อครูพร้อมและมั่นใจจึงค่อยเชิญผู้รู้จากภายนอกให้เข้ามามีส่วนร่วม รวมไปถึงการลดขั้นตอนการดำเนินงานตามกระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูด้วยการใช้วงจรฝึกหัด ซึ่งก็คือการให้ครูได้ฝึกดำเนินงานตามกระบวนการฯ เฉพาะใน 2 ขั้นตอนสำคัญและเป็นขั้นตอนที่ครูไม่คุ้นเคย ได้แก่ ขั้นสอนและสังเกต และขั้นสืบสอบผลการปฏิบัติงานก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ครูได้ปรับตัวและเห็นประโยชน์จากการดำเนินงาน จนเกิดความพร้อมที่จะดำเนินการเต็มวงจรสมบูรณ์ที่มีขั้นตอนครบถ้วน ฉะนั้นหากดำเนินการตามกลยุทธ์เพิ่มและลดนี้ ครูจะเกิดความมั่นใจ ความพร้อมและเกิดแรงจูงใจที่จะดำเนินงานตามกระบวนการพี่เลี้ยงร่วมกับการศึกษาผ่านบทเรียนด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ส่งเสริมความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครูได้ต่อไป