ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถ ด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการสอน
แบบเลือกสรร กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
ชื่อผู้รายงาน พรระวี จันทร์ย่อย
ปีที่ทำการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค
การสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของเทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ 3) เพื่อทดลองใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ผู้ให้ข้อมูล คือ ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาที่มีประสบการณ์ในการสอนเกี่ยวกับการใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรร วิชาภาษาไทยอย่างน้อย 10 ปี จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)
ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและหาประสิทธิภาพของเทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนา ความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ผู้วิจัยได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาและด้านการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย จำนวน 5 คน ตรวจสอบความเหมาะสมของเทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ แล้วนำไปทดลองใช้เพื่อหาประสิทธิภาพกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนศรีอินทราทิตย์พิทยาคม จำนวน 3 ครั้ง จำนวนนักเรียน 42 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน
เชิงวิเคราะห์ จำนวน 7 แผนและแบบทดสอบความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean)
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนศรีอินทราทิตย์พิทยาคม จำนวน 44 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ จำนวน 7 แผนและแบบทดสอบความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ คือ ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และค่า t ( t – test Dependent)
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินความพึงพอใจของนักเรียนหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้
ในการทดลองได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนศรีอินทราทิตย์พิทยาคม จำนวน 44 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ คือ การจัดการเรียนรู้เทคนิคการสอนแบบ 4 MAT เทคนิคการสอนแบบ 5W 1H เทคนิคการสอนแบบหมวกความคิด 6 ใบ เทคนิคการสอนแบบ PANORAMA เทคนิคการสอนแบบ CIPPA เทคนิคการสอนแบบ SQ4R และเทคนิคการสอนแบบ KWL-Plus
2. ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของเทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ในการทดลองใช้แบบเดี่ยว นักเรียนจำนวน 3 คน พบว่า
ได้ค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ 67.14/65.83 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องแล้วนำไปทดลองใช้แบบกลุ่ม นักเรียนจำนวน 9 คน พบว่าได้ค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ 73.33/73.06 จึงดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอีกครั้ง จากนั้นนำไปทดลองใช้ในภาคสนาม นักเรียนจำนวน 30 คน พบว่าได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 85.38/85.08 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80
3. ผลการทดลองใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน
เชิงวิเคราะห์ จากการใช้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 44 คน โรงเรียนศรีอินทราทิตย์พิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.13/85.00 ซึ่งสูงว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 และ ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรร สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการสอนแบบเลือกสรรเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก