บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม
ของโครงการ (Context Evaluation) ได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการ 2) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้นหรือนำเข้า (Input Evaluation) ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ การบริหารจัดการ และระยะเวลาในการดำเนินงาน 3) เพื่อประเมินการปฏิบัติงานด้านกระบวนการ PDCA ของโครงการ (Process Ealuation) ได้แก่ การเตรียมดำเนินงาน การปฏิบัติงานตามแผนการ ประเมินผล การสรุปรายงานผล 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ได้แก่ ความพึงพอใจ การพัฒนาคุณลักษณะในการปฏิบัติงาน การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียน และคุณลักษณะนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทำดีมีอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) ปีการศึกษา 2558 จำนวน 437 คน ได้มาด้วยการสุ่มอย่างง่าย ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 2 คน คณะทำงาน 30 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 185 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 220 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 437 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม จำนวน 4 ชุด คือ ชุดของผู้บริหาร, ชุดของคณะทำงาน, ชุดของผู้ปกครองและชุดของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .98 และ .89 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
การดำเนินงานโครงการทำดีมีอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล๒ (บ้านมลายูบางกอก) ด้านบริบท ผู้บริหารมีความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ส่วนด้านอื่น ๆมีความเหมาะสมในระดับมากทุกด้าน ในส่วนของคณะทำงานมีความเห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมากทุกด้าน เมื่อวิเคราะห์ในระดับลึก พบว่า
1. การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ผู้บริหารมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีความคิดเห็นในระดับมากที่สุดในรายการ วัตถุประสงค์โครงการ มีความชัดเจนเหมาะสม ความสอดคล้อง โครงการสอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา ส่วนคณะทำงานมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีความคิดเห็นในระดับมากที่สุดในรายการ โครงการเอื้อโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาตนเอง
2. การประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นหรือนำเข้า (Input Evaluation) ผลการประเมินโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ผู้บริหารมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ คณะทำงานมีจำนวนเพียงพอต่อการดำเนินโครงการ คณะทำงานมีมนุษยสัมพันธ์ งบประมาณในการดำเนินโครงการมีความเพียงพอ แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม สถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจกรรม มีความเหมาะสม ผู้บริหารให้การสนับสนุนโครงการอย่างเหมาะสม การจัดกิจกรรมมีความหลากหลาย ระยะ เวลาในการดำเนินการมีความเหมาะสม และระยะเวลามีความเพียงพอในการดำเนินงาน ในส่วนของ
คณะทำงานมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก และรายการที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ประกอบด้วย สถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจกรรมมีความพอเพียง และผู้บริหารให้การสนับสนุนโครงการอย่างเหมาะสม
3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ใน
ระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ผู้บริหารมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด คือ มีการสรุป
ผลการปฏิบัติงานทุกกิจกรรม ส่วนคณะทำงานมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก และรายการที่มี
ความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด คือ มีเครื่องมือการประเมินผลที่เหมาะสม และมีการประเมินผล
ระหว่างดำเนินกิจกรรมโครงการ ข้อที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ มีแนวทางแก้ไข และ
ปรับปรุงงานอย่างชัดเจน
4. การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation)
ผลการประเมินความพึงพอใจ การพัฒนาคุณลักษณะในการปฏิบัติกิจกรรม และการใช้
เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า ผู้บริหารมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก และรายการที่ผู้บริหารมีความคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่
นักเรียนได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน และสังคมมากขึ้น นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนมีความพร้อมในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และโครงการช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริง ส่วนคณะทำงาน และนักเรียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกันในระดับมากที่สุดในรายการ นักเรียนฝึกการเป็น ผู้นำ ผู้ตามที่ดีในการทำกิจกรรม และโครงการช่วยให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ส่วนผู้ปกครองมีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก และรายการที่ผู้ปกครองมีความคิดเห็นมากที่สุด คือ โครงการช่วยให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน
ผลการประเมินทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
โครงการทำดีมีอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก)
ปีการศึกษา 2558 โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 92.57 ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้
ผลประเมินคุณลักษณะนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน
ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โครงการทำดีมีอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านมลายูบางกอก) ปีการศึกษา 2558 โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 90.80 ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้