บทคัดย่อ
การประเมินโครงการนี้มีความมุ่งหมายเพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียน โดยใช้รูปแบบซิป (CIPP Model) เป็นแนวทางเพื่อประเมินความก้าวหน้า ปัญหา และข้อเสนอแนะของโครงการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 128 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ นักเรียนที่ไม่เป็นคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และผู้นำชุมชน จากโรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการประจำปี 2557
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ
1.1 ด้านสภาวะแวดล้อม ประกอบด้วย นโยบาย จุดมุ่งหมาย สภาพความต้องการ สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก และความจำเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโครงการ ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองนักเรียน เห็นด้วยอยู่ในระดับมาก
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย สื่อเอกสาร วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และบุคลากร ผู้บริหารโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองนักเรียนเห็นด้วยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโครงการเห็นด้วยในระดับมาก
1.3 ด้านกระบวนการ ประกอบด้วย การวางแผนการจัดการ และกิจกรรมในการดำเนินโครงการ ผู้บริหารโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโครงการเห็นด้วยในระดับมาก ส่วนผู้นำชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน เห็นด้วยในระดับปานกลาง
1.4 ด้านผลผลิต ประกอบด้วย ผลการดำเนินงาน การบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการผู้บริหารโรงเรียน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และนักเรียนที่เป็นคณะกรรมการโครงการเห็นด้วยในระดับมาก ส่วนผู้นำชุมชน และผู้ปกครองนักเรียนเห็นด้วยอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับผลการประเมินการได้รับบริการด้านสุขภาพของนักเรียนที่ไม่ใช่คณะกรรมการ ส่วนใหญ่ได้รับบริการด้านสุขภาพ การตรวจสุขภาพ การสอนสุขศึกษาจากครู การเฝ้าระวังและส่งเสริมโภชนาการ ทันตสาธารณสุข และได้รับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ทางกายภาพที่ส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน
2. ปัญหาและข้อเสนอแนะ บุคลากรส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน ดังนี้
2.1 ด้านสภาวะแวดล้อม โดยส่วนใหญ่ภาครัฐกำหนดนโยบายมาให้ บางครั้งยากต่อการปฏิบัติ และนโยบายถูกกำหนดไว้มาก แต่ปฏิบัติไม่ครบตามที่กำหนด
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า บุคลากรขาดความรู้ ความเข้าใจในโครงการอย่างชัดเจน งบประมาณที่สนับสนุนไม่เพียงพอ ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชุมชนมีส่วนร่วมน้อย ข้อเสนอแนะคือ ควรเพิ่มงบประมาณที่สนับสนุนในการดำเนินงานตามโครงการเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมในโครงการของชุมชน
2.3 ด้านกระบวนการ ขาดการประสานงานระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการวางแผนร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ ข้อเสนอแนะคือ ควรจัดประชุม อย่างสม่ำเสมอเพื่อหารูปแบบให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเข้าใจตรงกัน
2.4 ด้านผลผลิต ผลที่เกิดจากโครงการมีประโยชน์ต่อสุขภาพของนักเรียน ครอบครัว สมาชิกในชุมชน และบุคลากรในโรงเรียนได้รับการตรวจสุขภาพอย่างทั่วถึงส่งผลให้มีการเฝ้าระวัง ดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกต้อง
กล่าวโดยสรุป โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพ ควรมีการดำเนินโครงการต่อไปและมีการติดตามประเมินผลโครงการเป็นระยะทุกๆ 2 ปี