ชื่อเรื่อง การพัฒนากลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อ
ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต
ชื่อผู้วิจัย นายมานะ เจริญเปลี่ยน
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นในการพัฒนากลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น 2) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต 3) เพื่อทดลองใช้กลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงกลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๓ วัดอัมพวันเจติยาราม จำนวน 196 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย กลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามและการจัดสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์เชิงปริมาณ ใช้ค่าร้อย ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการสนทนากลุ่มกับผู้เกี่ยวข้องถึงสภาพปัญหา ความต้องการจำเป็น พบว่า ทุกคนมีความเห็นว่าการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น และการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา
2. กลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า DSHSI Model ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) D : Disperse Power การกระจายอำนาจ 2) S : Stress Professional Development การพัฒนาวิชาชีพครู 3) H : Have a Vision การมีวิสัยทัศน์ 4) S : Self Managing การบริหารตนเอง 5) I : Information การประชาสัมพันธ์
3. ผลการทดลองใช้กลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น พบว่า หลังการใช้กลยุทธ์มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนใช้กลยุทธ์ทุกด้าน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีผลการพัฒนาเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ได้แก่ด้านการกระจายอำนาจ โรงเรียนสนับสนุนให้ครูได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด รองลงมาได้แก่ ด้านการพัฒนาวิชาชีพครู ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาด้านวิชาชีพ
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการพัฒนากลยุทธ์การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ตามความคิดเห็นผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄; = 4.42 , SD. = 0.299) เพื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ นักเรียนมีทักษะในการประกอบอาชีพ (x̄; = 4.52 , SD. = 0.588) รองลงมาได้แก่ ครูมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิต (x̄; = 4.51 , SD. = 0.564)