ชื่องานวิจัย การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมเพื่อเสริมสร้าง
มโนทัศน์ทางชีววิทยา เรื่องระบบประสาท ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางสาวศิรินันท์ สุวรรณมุสิก
ปีการวิจัย 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อ 1) พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยา เรื่องระบบประสาท ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) เพื่อเปรียบเทียบมโนทัศน์ทางชีววิทยาก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมที่พัฒนาขึ้น 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยาที่พัฒนาขึ้น
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชันมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 145 คน จาก 4 ห้องเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนสาธิตเทศบาลวัดเพชรจริก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 36 คน จาก 1 ห้องเรียน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เนื่องจากการจัดนักเรียนเข้าชั้นเรียนแบบคละความสามารถตามเกรดเฉลี่ยทุกห้องเรียน เครื่องมือในการวิจัย คือ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยา จำนวน 7 แผน 2) แบบทดสอบวัดมโนทัศน์ทางชีววิทยา ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ตั้งแต่ 0.27-0.88 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.80 และ 3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึม เป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 12 ข้อ อำนาจจำแนก (rxy) ตั้งแต่ 0.21 0.67 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.78 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการทดสอบ Wilcoxon Signed Ranks Test
ผลการวิจัยพบว่า
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยา เรื่องระบบประสาท ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.12/81.11 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยา เรื่องระบบประสาท มีมโนทัศน์ทางชีววิทยาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรักติวิซึมเพื่อเสริมสร้างมโนทัศน์ทางชีววิทยา เรื่องระบบประสาท มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด