ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมเรียนรู้แบบร่วมมือเพื่อเสริมสร้างทักษะคุณภาพผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 เรื่อง ดนตรีน่ารู้ รายวิชาดนตรี รหัสวิชา ศ21101 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โดยใช้ชุดฝึกทักษะ
ผู้วิจัย นางอิศราพร อินทะกนก
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ กองการศึกษาเทศบาลเมืองสุรินทร์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การพัฒนากิจกรรมเรียนรู้แบบร่วมมือเพื่อเสริมสร้างทักษะคุณภาพผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 เรื่อง ดนตรีน่ารู้ รายวิชาดนตรี รหัสวิชา ศ21101 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โดยใช้ชุดฝึกทักษะ เป็นการวิจัยและพัฒนา (research and development) ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การวิจัย (research) เป็นการศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐานในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยชุดฝึกทักษะ 2) เป็นการพัฒนา (development) เป็นการสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะ 3) การวิจัย (research) เป็นการทดลองใช้ชุดฝึกทักษะ และ 4) เป็นการพัฒนา (development) เพื่อการประเมินและปรับปรุงชุดฝึกทักษะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/5 ของโรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 30 คน แบบแผนในการวิจัย ใช้การทดลองแบบ pre experimental design โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดฝึกทักษะ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ 2) แบบประเมินความเหมาะสมและสอดคล้องของชุดฝึกทักษะ 3) ชุดฝึกทักษะ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินและปรับปรุงแก้ไขชุดฝึกทักษะ ได้แก่ แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แบบประเมินผลงานนักเรียน การวิจัยครั้งนี้ มุ่งพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยชุดฝึกทักษะ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการศึกษาความคิดเห็นและข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ แล้วนำมาสร้างและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้ชุดฝึกทักษะ มีเนื้อหาประกอบด้วย 6 เรื่อง คือ 1) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย 2) เครื่องดนตรีและวงดนตรีไทย 3) หลักการขับร้องและบรรเลงเครื่องดนตรีไทย 4) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีสากล 5) เครื่องดนตรีและวงดนตรีสากล 6) หลักการร้องและบรรเลงเพลงสากล ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วย คู่มือครู ประกอบด้วย คำนำ วัตถุประสงค์ การออกแบบการเรียนรู้ คำชี้แจงในการใช้คู่มือครู บทบาทของครู แผนการจัดการเรียนรู้ ใบความรู้ แบบประเมินผลงานนักเรียน แบบทดสอบย่อย เฉลยแบบทดสอบย่อย คู่มือนักเรียน ประกอบด้วย คำนำ วัตถุประสงค์ การออกแบบการเรียนรู้ คำชี้แจงในการใช้คู่มือครู บทบาทของนักเรียน ใบความรู้ ชุดฝึกทักษะ แบบประเมินผลงานนักเรียน แบบทดสอบย่อย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทดสอบค่าที (t-test) แบบ dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) แล้วนำเสนอแบบพรรณาความและตาราง
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ดนตรี เพื่อเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ด้วยชุดฝึกทักษะ สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ดังนี้
1.1 ผลการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชุดฝึกทักษะ จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาดนตรีโดยใช้ชุดฝึกทักษะ พบว่า ชุดฝึกทักษะ เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี เพราะชุดฝึกทักษะสามารถช่วยแก้ปัญหาการเรียนได้ และยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ครู นอกจากนี้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้วิชาดนตรีแบบร่วมมือชุดฝึกทักษะ มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
1.2 ผลการวิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ พบว่า ดนตรีมีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะดนตรีช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ กิจกรรมทางศิลปะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้
1.3 ผลการศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนรู้ เรื่องดนตรีน่ารู้ เนื้อหา กิจกรรมการวัดผลและประเมินผล พบว่า ผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ชุดฝึกทักษะ ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีตัวอย่าง ลักษณะของชุดฝึกทักษะ เรื่อง ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย ควรมีเนื้อหาที่ให้ความรู้ มีภาพประกอบและสีสันสวยงาม มีแบบทดสอบท้ายบทเรียน มีตัวอย่างในแต่ละชุดฝึก ด้านเนื้อหาเรื่อง ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย นอกจากเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แล้วควรเพิ่มเติมหรือแทรกเนื้อหาให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่อง เครื่องดนตรีและวงดนตรีไทย , หลักการขับร้องและบรรเลงเครื่องดนตรีไทย , ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีสากล , เครื่องดนตรีและวงดนตรีสากล และหลักการร้องและบรรเลงเพลงสากล ด้านการนำชุดฝึกทักษะไปใช้ การจัดการเรียนการสอนโดยการจัดเป็นกลุ่ม 4-5 คน เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายบุคคล เรียนรู้แบบ กลุ่มย่อย 2 คน มีการวัดผลและประเมินผลครอบคลุมด้านความรู้ ทักษะกระบวนการและเจตคติ โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น ชุดฝึกทักษะ แบบทดสอบ และแบบประเมินผลงาน
2. ผลการพัฒนา (development) การพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้ชุดฝึกทักษะประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ พบว่า
2.1 ประสิทธิภาพของชุดฝึกทักษะเพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 76.08/77.00 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 75/75
2.2 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนการพัฒนาและหลังการประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ เพื่อส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คะแนนเฉลี่ย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยมีค่า t เท่ากับ 10.83
2.3 ค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.50 ,S.D.= 0.72) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.72 แสดงว่า นักเรียนมีความพึงพอใจมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อนักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุดจำนวน 9 ข้อ พึงพอใจมาก จำนวน 6 ข้อ
3. ผลการทดลองใช้ชุดฝึกทักษะ เรื่อง ดนตรีน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้วิจัยได้นำชุดฝึกทักษะไปทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/5 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 30 คน ซึ่งใช้ชุดฝึกทักษะ จำนวน 20 ชั่วโมง ผลการทดลองใช้ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีความสนใจ กระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยชุดฝึกทักษะมีทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความสุข สนุกกับการเรียน มีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ ชุดฝึกทักษะที่นำมาทดลองใช้นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาประกอบการเรียนรู้
4. ผลการประเมินและปรับปรุงชุดฝึกทักษะ เรื่อง ดนตรีน่ารู้สำหรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนมีผลการเรียน เรื่อง ดนตรีน่ารู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 โดยผลการเรียนรู้เรื่อง ดนตรีน่ารู้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะสูงกว่าก่อนเรียน