ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถ
ทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางบุษวรรณ เชื้อชะเอม
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียน โดยศึกษาบริบท สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 37 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย ด้วยวิธีจับสลากห้องเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน
2)แบบทดสอบวัดความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแบบอัตนัยจำนวน 10 ข้อ
3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน โดยใช้คำถามแบบมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ แบบแผนการวิจัยเป็นแบบ One Group Pretest Posttest Design วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย( ) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การหาค่า t - test แบบ dependent
สรุปผลการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลการวิจัยดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า ครูผู้สอนมีปัญหาในเรื่องเนื้อหา วิธีสอน สื่อ การประเมินและการจัดระบบบทเรียนที่ดียังไม่ดีพอ ขาดการนำความรู้ ทักษะเดิมของนักเรียนไปสัมพันธ์กับบทเรียนใหม่ ครูขาดทักษะในการนำเข้าสู่บทเรียนให้น่าสนใจ และนักเรียนไม่คำนึงถึงมารยาทในการเขียนและมีความต้องการศึกษาวิธีจัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ ด้านนักเรียนพบว่ามีปัญหาด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ครูไม่มีการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ทราบเมื่อมีการเรียนการสอน ครูผู้สอนไม่มีทักษะในการนำเข้าสู่บทเรียนให้น่าสนใจและนักเรียนขาดความสามารถในการเขียน ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ขาดความสละสลวยและใช้สำนวนโวหารไม่เหมาะสม และมีความต้องการวิธีการสอนที่ช่วยพัฒนาการเขียนเชิงสร้างสรรค์
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยต้องการให้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีความหลากหลาย เนื้อหาน่าสนใจ เข้าใจง่าย เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก มีภาพประกอบเพื่อดึงดูดความสนใจ ให้นักเรียนเรียนรู้ทั้งระบบกลุ่มย่อยและรายบุคคล มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม คำสั่งมีความชัดเจน และมีการวัดผล
ตามสภาพจริงและแบบทดสอบควรเป็นแบบอัตนัย
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ที่ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นกระตุ้นความสนใจ 2) ขั้นสั่งสมปัญญา 3) ขั้นพัฒนาความคิด 4) ขั้นพัฒนาการเขียน 5) ขั้นวัดและประเมินผล ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผลการหาประสิทธิภาพแบบรายบุคคล (Individual Tryout) เท่ากับ 57.33/54.33 ผลการหาประสิทธิภาพแบบกลุ่มเล็ก (Small Group Tryout) เท่ากับ 74.33/73.56 ผลการหาประสิทธิภาพแบบภาคสนาม (Field Tryout) เท่ากับ 84.13/83.90 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80/80 สอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1 ที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า จากการสังเกตนักเรียน
มีความกระตือรือร้นให้ความสนใจกับการเรียนรู้ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
เป็นอย่างดี กล้าแสดงความคิดเห็นรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มและโต้แย้งเพื่อให้เกิดคุณภาพงาน สามารถทำแบบฝึกหัดระหว่างเรียนได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ผลงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีความแปลกใหม่ มีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบอยู่ในระดับสูง และมีความร่วมมือกันอยู่ในระดับสูง
4. ผลการประเมินและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนก่อนและหลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์
หลังเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนเรียน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัย
ข้อที่ 2 ที่กำหนดไว้ ด้านความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้
เพื่อสร้างเสริมความสามารถทางการเขียนเชิงสร้างสรรค์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมและรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด โดยเห็นด้วยมากที่สุด
ด้านการวัดและประเมินผล ด้านเนื้อหาและด้านกิจกรรมการเรียนการสอนตามลำดับ