ชื่อเรื่อง ผลของการใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนเทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์
ผู้วิจัย นางสาวอรทัย ชีพสุวรรณ
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและหาคุณภาพของหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังเรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่อง สิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาล 7 รถไฟสงเคราะห์ เทศบาลนครอุดรธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 33 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย หนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 เรื่อง แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากร ธรรมชาติในท้องถิ่น แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก จำนวน 1 ฉบับ จำนวน 20 ข้อ ซึ่งได้แบบทดสอบที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากร ธรรมชาติในท้องถิ่นซึ่งได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดเจตคติทั้งฉบับเป็น 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และการทดสอบค่าที
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการและผลลัพธ์ (E1/E2) เท่ากับ 89.82/92.27
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5
3. นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง มีความพึงพอใจต่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม เรื่อง สิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด