บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน
เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม
ชื่อผู้วิจัย นางณัฏฐ์ธนัน บัวงาม
สังกัด โรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
ปีการศึกษา 2556
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะ 4 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้น มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม
1.1) ผลการศึกษาและวิเคราะห์ แนวคิด ทฤษฎี หลักการ พบว่า การพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนเป็นแนวคิดที่สำคัญในการช่วยพัฒนาสมรรถนะให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนของตนได้อย่างมีคุณภาพ โดยครูเกิดความรู้สึกมั่นใจและแนวคิดเชิงบวกกับการประเมินผลในชั้นเรียนของตนเองยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น
1.2) ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาตนเอง 1.2.1) ผลการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาการเรียนการสอน พบว่า จากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปีการศึกษา 2554 และปีการศึกษา 2555 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างต่ำ ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสาม โดยสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) มีผลการจัดการศึกษาได้มาตรฐานคุณภาพของสมศ.ในระดับดีค่อนข้างต่ำ อยู่ในระดับคุณภาพต้องปรับปรุง จำนวน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และต้องปรับปรุงเร่งด่วน จำนวน 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเฉพาะด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนของโรงเรียนยังไม่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้นในระดับที่น่าพึงพอใจ
1.2.1) ผลการศึกษาข้อมูลสภาพทั่วไป พบว่า ครูผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง รองลงมาเป็นเพศชาย วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาปริญญาโท ครูผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นครู คศ.1 ปฏิบัติการสอนกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ระดับชั้นที่ปฏิบัติการสอนส่วนใหญ่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนในรอบปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ครูผู้เข้าอบรมประเมินความรู้ความเข้าใจ ทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ การวัดประเมินผลครูผู้เข้าอบรมวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนส่วนใหญ่ระหว่างและหลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จบในแต่ละภาคเรียนหรือปีการศึกษา ภาระงานสอนต่อสัปดาห์ของครูผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 19-23 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประสบการณ์ในการอบรมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ครูผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ไม่เคยเข้า และครูมีความต้องการเข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 100
1.3) ผลการศึกษามโนทัศน์การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ พบว่า โดยภาพรวมครูผู้สอนมีมโนทัศน์การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ระดับชั้นเรียนอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อดูรายละเอียด พบว่า ครูผู้สอนมีมโนทัศน์เกี่ยวกับการประเมินที่สอดคล้องและครอบคลุมสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ การอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในระดับสูง และครูผู้สอนมีมโนทัศน์เกี่ยวกับการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลและตรวจสอบผลการประเมินอยู่ในระดับต่ำ
1.3.1) ผลการวิเคราะห์สภาพการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนในสถานศึกษา พบว่า ครูผู้สอนมีการดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ระดับชั้นเรียนของตนมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับเป็นบางครั้ง น้อยครั้งที่ครูผู้สอนดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และน้อยครั้งที่ครูผู้สอนสร้างเครื่องมือและประเมินผลการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิธีการประเมิน
13.2) ผลการศึกษาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน ทุกข้อมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. ผลการสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับ
ชั้นเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม
2.1) รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน มี
องค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่ 1) แนวคิดและหลักการพื้นฐานของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ผลลัพธ์ที่คาดหวังของรูปแบบ 4) เนื้อหากิจกรรมรูปแบบ 5) กระบวนการจัดกิจกรรมของรูปแบบ และ 6) การประเมินผลของรูปแบบ
2.2) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของโครงสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่าในแต่ละข้อมีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง 0.60-1.00 โดยในการวิจัยครั้งนี้มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.82 และผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความชัดเจน ความง่ายต่อการนำไปใช้ของรูปแบบผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกันทุกประเด็น
2.3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับ ชั้นเรียนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า ครูผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจต่อรูปแบบเนื่องจากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและพัฒนากิจกรรมด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนของตน ในสาระการเรียนรู้ที่ตนสอน ซึ่งมีองค์ประกอบของรูปแบบ 3 ส่วนคือ 1) การนำเข้าสู่แระบวนการฝึกอบรม 2) การดำเนินการฝึกอบรม ได้แก่ ข้นเตรียมการ ขั้นนำเสนอเนื้อหา ขั้นฝึกปฏิบัติ ขั้นจุดประกายและขยายความคิด และการ 3) การติดตามการประเมินผล
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับ ชั้นเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม
3.1) ผลการเปรียบเทียบค่าความแตกต่างสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับ ชั้นเรียนตามการรับรู้ของครูผู้สอนก่อนและหลังการอบรม พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนสมรรถนะด้านความรู้ ความเข้าใจ ด้านทักษะ และด้านความพึงพอใจในการวัดและประเมินผลของครูผู้เข้าอบรม ครูผู้เข้าอบรมมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนหลังฝึกอบรมมากกว่าก่อนฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.2) ผลการเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการเสริมพลังอำนาจการทำงานในตนเองตามการรับรู้ของครูผู้สอนก่อนและหลังการอบรม พบว่า การเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการเสริมพลังอำนาจการทำงานในตนเองตามการรับรู้ของครูก่อนและหลังการฝึกอบรม หลังการฝึกอบรมมีค่าสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.3) ผลการวิเคราะห์ผลลัพธ์
3.3.1) การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยภาพรวมในปีการศึกษา 2556 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
3.3.2 วิเคราะห์ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-net) พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมในปีการศึกษา 2556 ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 44 เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยกับระดับประเทศและหน่วยงานต้นสังกัดในภาพรวม พบว่า สถานศึกษามีคะแนนเฉลี่ย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ สูงกว่าทั้งระดับหน่วยงานต้นสังกัด และระดับประเทศ
3.3.3 เปรียบเทียบร้อยละเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยภาพรวมในปีการศึกษา 2556 ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศและหน่วยงานต้นสังกัดในภาพรวม พบว่า คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าระดับประเทศและระดับหน่วยงานต้นสังกัดทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
3.3.4 เปรียบเทียบผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-net) กับเกณฑ์การประเมินสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษา (องค์การมหาชน) สมศ.รอบสาม พบว่า ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-net) ในภาพรวมตัวบ่งชี้ที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาในปีการศึกษา 2556 ของโรงเรียนอยู่ในระดับคุณภาพ พอใช้
3.3.5 ผลการศึกษาค่าเฉลี่ยร้อยละตัวบ่งชี้ที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสาม เปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2555 กับปีการศึกษา 2556 พบว่า ในภาพรวมตัวบ่งชี้ที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างปีการศึกษา 2555 กับปีการศึกษา 2556 ของโรงเรียนมีผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษากับเกณฑ์การประเมินภายนอก (สมศ.) รอบสาม มีค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น
ตอนที่ 4 ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนกุดเสลาวิทยาคม
1.1 ผลการศึกษาความพึงพอใจของครูผู้เข้าอบรมที่มีต่อคุณภาพของรูปแบบการ
พัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียน พบว่า ในด้านความเป็นประโยชน์ครูผู้สอนเห็นด้วยในระดับมาก ในประเด็นการอบรมนี้สอดคล้องกับความคิดของท่าน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ความเป็นไปได้ของรูปแบบครูเห็นด้วยในระดับมาก ในประเด็นการอบรมครั้งนี้มีแผนปฏิบัติการหรือวิธีการอย่างชัดเจน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ความเหมาะสมของรูปแบบครูเห็นด้วยในระดับมาก ในประเด็นการอบรมครั้งนี้ช่วยให้ครูประเมินการเรียนรู้ได้อย่างน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของรูปแบบครูเห็นด้วยในระดับมาก ในประเด็นรูปแบบการอบรมครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานของท่าน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด
1.2 ผลการศึกษาความพึงพอใจของครูผู้เข้าอบรมที่มีต่อการประเมินเสริมพลังอำนาจ
บทบาทของตนเองและบทบาทของผู้สนับสนุน พบว่า โดยภาพรวมครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบในระดับ เรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การอำนวยความสะดวก การสนับสนุน และการมีเสรีภาพทางการคิด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การเต็มใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ถูกต้อง
1.3 การปรับปรุงรูปแบบจากผลของการนำไปทดลองใช้
1.3.1 ปรับปรุงแผนการอบรม ในแต่ละกิจกรรมให้มีรายละเอียดและขั้นตอนที่ชัดเจน และปรับกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ให้เคร่งเครียดหรือเต็มไปด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์มากเกินไป แต่จัดกิจกรรมให้สนุก เป็นกันเอง ให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกมั่นใจและเชื่อในพลังการทำงานของตนเอง และเรียนรู้อย่างมีความสุข
1.3.2 ปรับปรุงในส่วนของหลักการพื้นฐาน บทบาทของวิทยากร ผู้สนับสนุน และบทบาทของครูผู้เข้าอบรม ในคู่มือการจัดกิจกรรมการอบรมให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อให้วิทยากร ผู้สนับสนุนและครูผู้เข้าอบรม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
1.3.3 ปรับระยะเวลาในแต่ละกิจกรรม ไม่ให้มากเกินไป และปรับจำนวนกิจกรรมให้เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาสมรรถนะด้านการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ