การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการมีส่วนร่วมในการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และ 2) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ จำนวน 12 ด้าน ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ รวมทั้งสิ้น 46 คน แบ่งออกเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน และครู จำนวน 31 คน โดยเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่าเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ได้แก่ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพการมีส่วนร่วมในการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และด้านการส่งเสริมความรู้ทางวิชาการแก่ชุมชน ส่วนด้านการประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่นและองค์กรต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
2. สภาพการมีส่วนร่วมในการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตามความคิดเห็นของครู โดยรวมสภาพการมีส่วนร่วมในการบริหารวิชาการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และด้านการวัดผล ประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน ส่วนด้านการประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่นและองค์กรต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
3. ปัญหาและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตาม ความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาการแนะแนวการศึกษาส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และหน่วยงานอื่น ๆ ที่จัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องดำเนินการเท่านั้น รองลงมา คือ การนิเทศการศึกษาส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ท้องถิ่น หรือนอกสถานศึกษายังน้อยมาก
สำหรับข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตาม ความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ คือ ผู้บริหารสถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน หรือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการแนะแนวการศึกษาเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นการแนะแนวส่งเสริมการทำงานอาชีพในท้องถิ่นของผู้เรียนได้ ผู้บริหารสถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน หรือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการนิเทศการศึกษาเพิ่มขึ้น และนำผลการนิเทศการศึกษามาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป และผู้บริหารสถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนร่วมในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ท้องถิ่น หรือนอกสถานศึกษายังน้อยมาก
4. จากผลการศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตามความคิดเห็นของครู พบว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมที่พบมากที่สุด คือ ครูมีภาระงานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนในรายวิชาการที่ไม่ตรงตามความถนัด และขาดการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รองลงมา คือ ครูขาดการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการใช้หลักสูตร และปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง และครูส่วนใหญ่ขาดทักษะในการผลิตสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สื่อที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสื่อจากกระดาษ ไม่ใช่สื่ออิเล็กทรอนิกส์
สำหรับข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการบริหารวิชาการของคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานและครูโรงเรียนบ้านช่องพลี สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตาม ความคิดเห็นของครู สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษาควรลดกิจกรรมนอกหลักสูตรที่นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนปกติ มีการสำรวจความถนัดของครูอย่างสม่ำเสมอ และจัดครูให้ได้รับการอบรมพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาควรจัดให้มีการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการใช้หลักสูตร และปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรสถานศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาควรจัดให้มีการให้ความรู้ด้านการผลิตสื่อเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย