ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้
การจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry cycle) สำหรับนักเรียน
ชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้ศึกษา นางสาวอรัญญา แก้วเกิด ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร
จังหวัดชุมพร
ปีศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ให้มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 80 ขึ้นไปของนักเรียนทั้งหมด 2) เพื่อศึกษาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้การจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ 3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้การจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชาย หญิง ที่กำลังศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านท่าตะเภา) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 จำนวน 27 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ จำนวน 30 แผน 2) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 4 ทักษะ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการลงความเห็น จำนวน 40 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบเปรียบเทียบทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนด้วย t- test
ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ มีจำนวนนักเรียนที่ผ่านร้อยละ 80 ของคะแนนเต็ม จำนวน 27 คนคิดเป็นร้อยละ 100
2. ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ พบว่านักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย
ก่อนเรียน 18.00 คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน 34.89 คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทั้ง 4 ทักษะพบว่า หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05