ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรม สีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการหลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี
ผู้วิจัย นางสาวชฎาพร รุขเชษฐ์
ปีการศึกษา 2556 - 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี 2) ทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรม สีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการหลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี ประเมิน ความรู้ เจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเรียน 3) นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการหลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี ที่สร้างขึ้น 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครอุดรธานี
การดำเนินการวิจัยมี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ (Analysis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนา (Design and Development) การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน คู่มือการใช้รูปแบบ ฯ แผนการจัดการเรียนรู้ และเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะที่ 3 การนำไปใช้ (Implementation) โดยการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปทดลองใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น โรงเรียนเทศบาล 5 สีหรักษ์วิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 45 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เป็นนักเรียนที่เรียนชุมนุมวิทยาศาสตร์ ใช้สอนในชั่วโมงชุมนุม ระยะเวลาในการทดลอง 20 สัปดาห์ รวม 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและปัญหาการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ชุดกิจกรรม สีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 10 เล่ม 3) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดกิจกรรม สีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อม 4) แบบสอบถามเจตคติและพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 40 ข้อ ประกอบด้วย 4 ด้าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าที t-test ระยะที่ 4 การประเมิน (Evaluation) การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินระหว่างการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 2) การประเมินหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอนและนำเสนอรูปแบบ
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนประกอบชุดกิจกรรมสีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการ
หลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้ 7 ขั้น คือ 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม 2) ขั้นเร้าความสนใจ 3) ขั้นสำรวจและค้นหา 4) ขั้นอธิบาย 5) ขั้นขยายความรู้ 6) ขั้นประเมินผล 7) ขั้นนำความรู้ไปใช้
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นพบว่า
2.1 รูปแบบการเรียนการสอนประกอบชุดกิจกรรมสีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการ
หลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.11/81.83
2.2 รูปแบบการเรียนการสอนประกอบชุดกิจกรรมสีหรักษ์ รักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการ
หลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา มีดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7241
2.3 นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง สิ่งแวดล้อมศึกษาหลังการทดลอง สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.4 นักเรียนกลุ่มทดลองมีเจตคติต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังการทดลองสูงกว่าก่อน การทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.5 นักเรียนกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังการทดลองสูงกว่าก่อน การทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนประกอบชุดกิจกรรมสีหรักษ์รักษ์สิ่งแวดล้อมโดยบูรณาการหลักการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก
4. ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา มีความเห็นว่ารูปแบบที่พัฒนาขึ้นสามารถพัฒนาความรู้ เจตคติ และพฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้กับนักเรียน ระดับชั้นมัธยมตอนต้นได้