ที่มาและความสำคัญของปัญหา
การจัดการเรียนรู้โดยครูมืออาชีพนั้นเป็นการพัฒนาระบบงานกระบวนการเรียนการสอนเพื่อสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจสมศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ซึ่งครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้จึงต้องมีการฝึกฝนและพัฒนา รวมทั้งเพิ่มพูนทักษะให้เกิดความรู้ความชำนาญที่ดียิ่ง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545, หน้า 4-15)
จากพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 มีความว่า งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมือง สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่ได้กำหนดจุดมุ่งหมายการพัฒนาครูไว้อย่างชัดเจนในหมวด 4 มาตรา 24 และ 30 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 ที่กล่าวถึง การพัฒนาการเรียนการสอนหรือการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งควรพัฒนาครูให้ทำการสอนโดยใช้กระบวนการบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติ ฝึกทักษะในการคิด การจัดการ ฝึกการมีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนมีความสมดุลในด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม ความรับผิดชอบและสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ตลอดจนนำความรู้ไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาครูให้มีศักยภาพและสมรรถนะในทุกๆ ด้าน รวมทั้งให้มีสติปัญญา พฤติกรรมการสอนที่ดี ตลอดจนมีพฤติกรรมการแสวงหาความรู้ในการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบแบบต่อเนื่อง (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ, 2553, หน้า 41)
จากนโยบายการศึกษาดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความคาดหวังต่อครูที่ดีต้องมีสมรรถนะสูงเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และนำไปพัฒนาการเรียนการสอนตามบทบาทหน้าที่ให้สอดคล้องกับแนวโน้มการปฏิรูปการศึกษาและยกระดับคุณภาพของครูภายใต้กรอบการพัฒนาครูมืออาชีพ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2553, หน้า 13-14) อย่างไรก็ตาม ครูมืออาชีพที่สมบูรณ์แบบนั้นย่อมต้องนำมาซึ่งความเชี่ยวชาญในด้านวิชาชีพครูอย่างมีมาตรฐานทุกด้านเพื่อสร้างคุณภาพแห่งการศึกษาที่ดี ด้วยเหตุผลที่ว่าการจัดประสบการณ์ที่สนองความต้องการในการเรียนรู้สู่การพัฒนาของครูมืออาชีพสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการพัฒนาของครูในทิศทางที่ดีขึ้นได้
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ศึกษาสนใจศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถด้านสมรรถนะครูมืออาชีพที่มุ่งเน้นการปฏิบัติด้วยกระบวนการเรียนรู้เป็นสำคัญ และแนวคิด ทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ บ่งชี้ลักษณะการแก้ปัญหา สภาพการเรียนรู้หรือพัฒนาการด้านการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาวิชาชีพตามแนวคิดกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง (ทิศนา แขมมณี, 2548, หน้า78)
ดังนั้น ผู้ศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะพัฒนาครูให้เป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนที่จะส่งผลต่อสมรรถนะครูมืออาชีพด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรีโดยแสวงหาแนวทางใหม่ในการพัฒนาครูแทนวิธีการแบบดั่งเดิมซึ่งที่ผ่านมาพบว่าวิธีการพัฒนาครูนั้นประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง หากแต่ต้องการพัฒนาวิชาชีพครูให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่อยู่ในระดับสากลได้อย่างไร การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐาน การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง การจัดกระบวนการเรียนรู้ผังมโนทัศน์ และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบพบกลุ่มนั้นเป็นอย่างไร รวมทั้งรูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรีที่ดีและเหมาะสมนั้นควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมด้านความรู้ความเข้าใจ จิตวิทยา และทักษะปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งผลแห่งความสำเร็จจะทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาที่ดีต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนารูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
2. เพื่อศึกษาผลของการใช้ศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี
วิธีดำเนินการวิจัย
ผู้ศึกษาได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบการวิจัยและพัฒนา ที่เรียกว่า R&D (Research and Development) โดยแบ่งการดำเนินงานวิจัยออกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย คือ ขั้นตอนที่ 1 พัฒนารูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี เพื่อหาสมรรถนะครูมืออาชีพ และพัฒนารูปแบบและเอกสารประกอบการใช้รูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพ โดยกำหนดโครงสร้างองค์ประกอบของรูปแบบ เนื้อหาสาระและหน่วยการเรียนรู้ สร้างเครื่องมือ การประเมินผล ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบคุณภาพรูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี โดยผู้เชี่ยวชาญและมีการศึกษานำร่อง (Pilot study) กับครู 10 คน แล้วสรุปผลการศึกษาเพื่อนำไปปรับปรุงรูปแบบ และ ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพโดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี และการประเมินคุณภาพของรูปแบบจากการทดลองใช้ กับบุคลากรทางการศึกษาและครู รวมจำนวน 30 คน และประเมินผลการใช้รูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพฯ
ผลการศึกษา
พบว่า รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการมีองค์ประกอบของรูปแบบตามลักษณะ Semantic Model กล่าวคือเป็นรูปแบบที่ใช้ภาษาในการอธิบาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของรูปแบบ (Keeves, 1997) ประกอบด้วย 8 ส่วน คือ
1. ความเป็นมา และความสำคัญของรูปแบบ สภาพการเป็นมืออาชีพ ปัญหาและความจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพ ร่วมถึงเหตุผลในการสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ
2. หลักการรูปแบบ แนวคิด และทฤษฎีที่สอดคล้องกับความจำเป็นต่อการสร้างรูปแบบ ประกอบด้วย 5 แนวคิด คือ 1) แนวคิดการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง 2) แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ที่ประสบการณ์เป็นฐาน 3) แนวคิดเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้พบกลุ่ม 4) แนวคิดเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ผังมโนทัศน์ และ 5) แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่
3. ลักษณะสำคัญของรูปแบบ คือ S M A R T ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวหน้าของลักษณะสำคัญ 5 ประการ อันได้แก่ 1) ความเป็นตัวของตัวเอง 2) สร้างแรงจูงใจ 3) เอื้ออำนวยการเรียนรู้ 4) ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และ 5) พบและติดตาม
4. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ โดยกำหนดความมุ่งหวังในการสร้างรูปแบบที่ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพในสูงขั้น เพื่อให้ครูเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างข้อค้นพบจากกระบวนการพัฒนาครูมืออาชีพ
5. โครงสร้างเนื้อหาสาระของรูปแบบ ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบครูมืออาชีพที่ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติของครู และทักษะการปฏิบัติ แล้วนำมาบูรณาการโดยมาพัฒนาเพื่อให้กำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 10 หน่วยการเรียนรู้
6. กระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่รายละเอียดขั้นตอนการนำเนื้อหาสาระมากำหนดเป็นกิจกรรม และขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับองค์ประกอบต่างๆ ของรูปแบบ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 เต็มใจและเห็นคุณค่า ขั้นที่ 2 การมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริง หรือ ขั้นลงมือปฏิบัติจริง ขั้นที่ 3 สะท้อนการกระทำ ขั้นที่ 4 สรุปแนวคิดหลักการ และขั้นที่ 5 ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่
7. การประเมินผลรูปแบบ โดยสามารถอธิบายการกำหนดวิธีการประเมินผลของรูปแบบให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
8. สภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย เพื่อใช้อธิบายสภาพที่บ่งชี้ว่าการนำรูปแบบไปใช้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
สรุป
การสร้างรูปแบบการพัฒนาครูมืออาชีพของโรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี ภายใต้บริบทสังคมและโรงเรียนทำให้ได้รูปแบบที่มีการดำเนินงานอยู่ 8 ประการ ที่ประกอบด้วย ที่มา หลักการ ลักษณะสำคัญ วัตถุประสงค์ โครงสร้างเนื้อหา กระบวนการดำเนินงาน การประเมิน และสภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งครูมืออาชีพควรจะต้องมีหลักสำคัญ 3 ประการ อันได้แก่ 1) ครูมืออาชีพต้องมีความรู้และความเข้าใจในการเรียนการสอน รวมทั้งตนเองเป็นอย่างดียิ่ง 2) ครูมืออาชีพต้องมีเจตคติที่ดีและมีจิตวิทยาความเป็นครู เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นและมีแรงใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) ครูมืออาชีพต้องมีทักษะปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นความชำนาญการหรือเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วน เมื่อมีการพัฒนาทักษะแล้วย่อมจะมีเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการสังเกตและสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้เสมอ
อภิปรายผล
การวิจัยและพัฒนารูปแบบสมรรถนะครูมืออาชีพด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่พบว่าเป็นความสามารถที่สำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพและสมมรถนะครูที่ดีให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านเจตคติ ด้านทักษะปฏิบัติ สามารถอธิบายได้จากแนวคิดการพัฒนาสมรรถนะครูที่จัดเป็นสมรรถนะหลักในวิชาชีพครู เนื่องจากการการศึกษาเป็นกระบวนการค้นหาความรู้ความจริงเกี่ยวกับการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีระเบียบ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อข้อค้นพบ (กุศล บังเกตุ, 2548, หน้า 167) สอดคล้องกับ ประภารัต มีเหลือ (2540, หน้า 14) ที่กล่าวถึง สมรรถภาพที่จำเป็นของครูและองค์ประกอบ คือ การมีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักสูตร สามารถวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหา และความต้องการที่แท้จริงนักเรียนได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง มีความซื่อสัตย์ และซื่อตรงทางวิชาการ เป็นนักอ่าน มีความละเอียดรอบคอบ ทำงานเป็นระบบ มีใจกว้าง รับฟังและเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น ศึกษาเอกสาร ตำรา และสื่อต่างๆ เกี่ยวกับวิชาชีพครูเสมอ มีความคิดอิสระริเริ่มสร้างสรรค์มีศรัทธาต่อการเรียนรู้ จากผลการศึกษาดังกล่าว ผู้ศึกษานำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการการจัดกิจกรรมเพื่อให้ครูมีความเข้าใจที่เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ แล้วนำมาออกแบบขั้นการเรียนรู้ด้วย 4 แนวคิด คือ แนวคิดกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Griffin, 1987, หน้า 153) แนวคิดการจัดการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐานตามแนวคิดของ Kolb (1983) ; Eva and Susan (2001) ; วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542) และ สมศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์ (2544) ประกอบด้วย4 ขั้นตอน คือ 1) การมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริง 2) การสะท้อนการกระทำ 3) สรุปแนวคิดหลักการ และ 4) ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความแตกต่าง หลากหลาย ทั้งความรู้และประสบการณ์ จากแนวคิดดังกล่าวสามารถสะท้อนแนวคิดและสร้างความเข้าใจในภาพรวมของสาระเนื้อหาด้วยกระบวนการเรียนรู้ผังมโนทัศน์ที่ Novak (1984) ได้กล่าวว่า เป็นกระบวนการสะท้อนความคิด ความเข้าใจของครูที่มีต่อการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยอาศัยประสบการณ์เดิมประมวลเข้าด้วยกันจนเป็นข้อสรุปทำให้ทราบถึงความคิด ความเข้าใจของผู้สร้างที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดี อย่างไรก็ตามการสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพที่มีรูปแบบองค์ประกอบ 8 ประการนั้น สามารถอธิบายได้จากแนวคิดของ Keeves (1997) ที่กล่าวถึง รูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่ที่มีมโนทัศน์สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาการเรียนรู้ของครูคือกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง การเรียนรู้ที่เน้นประสบการณ์เป็นฐาน การเรียนรู้ผังมโนทัศน์ และการเรียนรู้พบกลุ่ม โดยผลการศึกษาสมรรถนะครูมืออาชีพ ที่พบจะประกอบด้วย 1) ที่มา 2) หลักการ 3) ลักษณะสำคัญ 4) วัตถุประสงค์ 5) โครงสร้างเนื้อหา 6) กระบวนการจัดกิจกรรม 7) การประเมินผลของรูปแบบ และ 8) สภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้มีจุดเน้นที่การเสริมสร้างให้ครูฝึกประสบการณ์ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่ลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ ความเป็นตัวเองตัวเองสร้างแรงจูงใจ เอื้ออำนวยการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบ พบและติดตาม โดยมีขั้นตอนการเรียนรู้ของรูปแบบ 5 ขั้นตอนคือ เต็มใจและเห็นคุณค่า 2 มีส่วนร่วมพัฒนาประสบการณ์จริง สะท้อนการกระทำ สรุปแนวคิดหลักการ และ ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ หมายถึง ขั้นตอนนี้ผู้เข้าร่วมกิจกิจกรรมสามารถนำหลักการ และความใหม่ที่ได้ไปทดลองใช้หรือทดลองใช้ในสถานการณ์ใหม่หรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นวงจรต่อเนื่องกัน ดังนั้น ผลจากการใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ดีควรให้ครูเข้าร่วมกิจกรรมแบบธรรมชาติโดยความสมัครในเพื่อเป็นการคัดกรองผู้เข้าร่วมซึ่งจะง่ายต่อการพัฒนาสมรรถนะและแสดงถึงความพร้อมของตนเองที่จะรับการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. หน่วยงานที่นำผลการศึกษาไปใช้ควรคำนึงถึงวัฒนธรรมองค์กรและบริบทของโรงเรียนหรือสถานศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อประยุกต์ใช้ในการกำหนดแผนงานต่อการพัฒนาบุคลากรครู
2. กำหนดช่วงเวลาในการพัฒนาบุคลากรครู ไว้ในแผนงานที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความพร้อมและการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนหรือสถานศึกษา
ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
1. หน่วยฝึกอบรมควรจัดหาลักษณะงานที่เหมาะสมกับวัยผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือครู ซึ่งจะต้องเป็นลักษณะที่น่าสนใจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใฝ่เรียนรู้ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
2. การจัดฝึกอบรมจะต้องสร้างระบบการมีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผน กำหนดลักษณะกิจกรรม และการประเมิน เพื่อให้เกิดการยอมรับตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง