วิจัยในชั้นเรียน : หัวใจของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ปัจจุบันโลกมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละประเทศจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายจากกระแสโลก โดยปัจจัยที่สำคัญที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายดังกล่าวได้แก่คุณภาพของคน การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องเป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคน ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณธรรม จริยธรรม พึ่งตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องวิกฤติทางปัญญา นั่นคือ คนขาดคุณภาพ ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ เปราะบางไปหมดทุกระบบ เช่น วินัยของคน ระบบราชการ การเมืองไม่มีคุณภาพ คนไทยเกลียดการเรียนรู้ เป็นทาสยาเสพติด ศีลธรรมตกต่ำ บริโภค เทคโนโลยีต่างประเทศ คิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตนเองไม่ค่อยได้ ไม่รักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม บ้านพนัน เล่นกีฬาเน้นแต่ชัยชนะไม่เน้นพัฒนา ยังเป็นประเทศด้วยพัฒนาต่อไป ซึ่งแม้ว่าไทยจะสามารถจัดการศึกษาได้ก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยมีอัตราเด็กในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าสู่การศึกษาในระบบได้อย่างน่าพอใจในระดับหนึ่ง และมีอัตราเข้าเรียนการศึกษานอกระบบในอัตราก้าวหน้า แต่ก็ยังพบว่ามีปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อเด็กวัยดังกล่าวนี้ ทำให้การจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง ด้อยคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเนื่องมาแต่ปัญหาการวางแผนและการจัดการศึกษาไม่เหมาะสมทั้งในเรื่องหลักสูตรและวิธีการสอนที่ไม่สามารถสนองต่อวิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ขาดรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย
จากการสรุปผลการสังเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ 1 ภาพรวมระดับประเทศ จำนวน 17,652 แห่ง พบว่า มาตรฐานด้านผู้เรียนที่ยังไม่ได้มาตรฐานมี 4 มาตรฐานคือ มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมาตรฐานที่ 9 ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต มาตรฐานด้านผู้บริหาร คือ มาตรฐานที่ 25 การบริหารงานวิชาการ โดยเฉพาะการมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และมาตรฐานที่ 18 การส่งเสริมกิจกรรมและการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มาตรฐานด้านครูผู้สอน คือ มาตรฐานที่ 24 ความเพียงพอของครู และมาตรฐานที่ 22 ความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ายังมีครูอีกจำนวนหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนยังไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนไม่ได้มาตรฐานตามไปด้วย โดยเฉพาะการจัดการเรียน การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่ต้องเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนองความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน โดยการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อพัฒนาเด็กแต่ละคนให้มีความรู้ความสามารถเต็มศักยภาพ กระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันนั้นก็ คือ การวิจัยในชั้นเรียน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนการสอนดังปรากฏใน มาตรา 24 (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ ทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการต่าง ๆ ตาม มาตรา 30 ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา การวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง พัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ผู้มีหน้าที่วิจัยในชั้นเรียนคือครูผู้สอน ผู้มีบทบาทหน้าที่โดยตรง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์คนแรกคือครูที่ทำวิจัยในชั้นเรียนเอง และนักเรียน ครูสามารถใช้ การวิจัยในชั้นเรียน เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในการจัดการเรียนการสอน ช่วยให้ครูวางแผนได้อย่างเป็นระบบ
การทำวิจัยในชั้นเรียนจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ดังนั้น ฝ่ายบริหารควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียนของครู เพื่อให้ครูเห็นความสำคัญของการทำวิจัย มีความรู้ความเข้าใจ ในกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน ดังนั้น การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย จึงนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้กระบวนการทำงานเกิดประสิทธิภาพ การทำวิจัยในชั้นเรียน เป็นกระบวนการของการแสวงหาความรู้ร่วมกันของผู้คนที่หลากหลายที่ยึดหลักการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมเรียนรู้ ร่วมรับผิดชอบจากสิ่งที่คิดร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปใช้จริง มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดการพัฒนา นอกจากนี้กระบวนการวิจัย จะช่วยให้คนที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ ทำให้รู้ว่าข้อมูลมีประโยชน์และมีความสำคัญ
การวิจัยในชั้นเรียน จะประสพผลสำเร็จได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูผู้สอนที่มีหน้าที่โดยตรงในการทำวิจัยในชั้นเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ การวางแผน การกำหนดแนวทางดำเนินการ การประเมินผล การรับผลประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายควรมีการทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอน การมีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการทำงานและจะทำให้เกิดความรู้สึกที่เกี่ยวข้องผูกพันกับงานหรือองค์กร ความรู้สึกผูกพันเกี่ยวข้องที่ว่านี้ หากมีการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันแล้ว จะส่งผลให้เกิดข้อผูกมัดหรือ สิ่งที่ตกลงใจร่วมกัน กล่าวว่า การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้สามารถพัฒนาองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาราบรื่นขึ้น ความผูกพันของผู้ร่วมงาน ขวัญและกำลังใจดีขึ้น ผู้ร่วมงานไว้วางใจฝ่ายบริหารมากขึ้น การทำงานเป็นทีมดีขึ้น
การค้นพบรูปแบบ A10 ของ ผู้อำนวยการ จำรัส นวลมา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดพระทรง (สุทธิวิเทศอุปถัมภ์) นับเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารงานวิชาการของสถานศึกษา โดยเฉพาะการวิจัยในชั้นเรียน รูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครู ที่ ผู้อำนวยการ จำรัส นวลมา คิดค้นขึ้นมาได้วางรูปแบบกระบวนการในการบริหารไว้อย่างเป็นระบบ โดยนำเอาแนวคิดทฤษฎีการบริหาร ทฤษฎีการมีส่วนร่วม และทฤษฎีการบริหาร โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มาบูรณาการเป็นกระบวนการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครู โดยมีขั้นตอนการบริหาร ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นร่วมคิดวิเคราะห์วิจารณ์ (Critical Thinking = C) เป็นการบริหารที่ให้ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ได้ร่วมคิดวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหา และคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียน ตลอดจน วิเคราะห์ถึงสาเหตุ ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน
ขั้นที่ 2 ขั้นร่วมตระหนัก (Aworeness = A) เป็นขั้นที่ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ตระหนักถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และตระหนักถึงความสำคัญของ การวิจัยในชั้นเรียน ที่สามารถแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
ขั้นที่ 3 ขั้นร่วมตัดสินใจ (Decision Making = D) เป็นขั้นที่ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ร่วมกันตัดสินใจในการคิดค้นแนวทางในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ขั้นที่ 4 ขั้นร่วมดำเนินการ (Acting = A) เป็นขั้นที่ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน (Act to Planning =AP) ร่วมกันปฏิบัติ (Act to Doing = AD) ร่วมกันประเมินผล (Act to Evaluation = AE) และร่วมกันประยุกต์ใช้ (Act to Action = AA)
ขั้นที่ 5 ขั้นร่วมรับผลประโยชน์ (Benefits = B) เป็นขั้นที่ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ร่วมกันรับผลประโยชน์จากการดำเนินการในครั้งนี้
ซึ่งเรียนรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียน นี้ว่า รูปแบบ ซีเอดีเอบี (CADAB Model) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารที่อาศัยหลักการ มีส่วนร่วม (Participation) และหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) และเป็นรูปแบบการบริหารที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพผู้เรียนไปพร้อม ๆ กันด้วย
การค้นพบรูปแบบการบริหารแบบ ซีเอดีเอบี (CADAB Model) เป็นการค้นพบรูปการบริหารงานวิชาการที่มีคุณค่าต่อการบริหารสถานศึกษาเป็นอย่างมาก การนำเอารูปแบบการบริหารงาน ซีเอดีเอบี มาทดลองใช้ในครั้งนี้ ได้หยิบยกเอาการบริหารวิชาการ ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา หรือ การวิจัยในชั้นเรียน มาเป็นเนื้อหาในการทดลอง ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ด้านสมรรถภาพการวิจัยในชั้นเรียนของครู ด้านคุณภาพผู้เรียนที่เป็นผลการวิจัยในชั้นเรียนของครู ด้านคุณภาพผู้เรียนที่เป็นผลจากการวิจัยของครู และที่สำคัญเป็นรูปแบบการบริหารที่ครู ผู้บริหาร และกรรมการสถานศึกษา ซึ่งมีส่วนร่วมในการบริหารความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหาร ซีเอดีเอบี ในระดับมากที่สุด ดังนั้นรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วม ซีเอดีเอบี มิใช่เป็นรูปแบบการบริหารที่เหมาะสมกับการวิจัยในชั้นเรียนเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้การบริหารงานวิชาการด้านอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะนำรูปแบบการบริหาร ซีเอดีเอบี (CADAB Model) เผยแพร่ให้ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจนำไปใช้ในการบริหารงานวิชาการของสถานศึกษา เพื่อให้เกิดสมรรถภาพของครู และคุณภาพผู้เรียนที่สูงยิ่งขึ้น
บทความโดย จำรัส นวลมา
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนเทศบาล 2 วัดพระทรง (สุทธิวิเทศอุปถัมภ์)